กองทุนรวมมีกี่ประเภท?
กองทุนรวมตลาดเงิน เป็นกองทุนรวมที่เน้นลงทุนในเงินฝากของธนาคาร หรือตราสารหนี้ระยะสั้น ที่มีอายุคงเหลือไม่เกิน 1 ปี เช่น ตั๋วเงินคลัง ตั๋วแลกเงิน ตั๋วสัญญาใช้เงิน หรือพันธบัตรและหุ้นกู้เอกชนที่มีอายุคงเหลือไม่เกิน 1 ปี กองทุนรวมประเภทนี้เหมาะกับนักลงทุนที่ยอมรับความเสี่ยงได้ต่ำหรือสำหรับการลงทุนระยะสั้นๆ
กองทุนรวมตราสารหนี้ กองทุนรวมที่มีนโยบายการลงทุนในตราสารหนี้เป็นหลัก ทั้งตราสารหนี้ภาครัฐเช่น ตั๋วเงินคลัง พันธบัตรรัฐบาล หุ้นกู้ ซึ่งเป็นได้ทั้งตราสารหนี้ระยะสั้น (อายุคงเหลือไม่เกิน 1 ปี) และตราสารหนี้ระยะยาว กองทุนรวมประเภทนี้เหมาะกับนักลงทุนที่ยอมรับความเสี่ยงได้ปานกลางค่อนข้างต่ำ คาดหวังความสม่ำเสมอของผลตอบแทน
กองทุนรวมผสม กองทุนรวมที่สามารถลงทุนในหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินประเภทต่างๆ ได้ทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็น เงินฝาก ตราสารหนี้ ตราสารทุน หรือตราสารอื่นๆ
กองทุนรวมประเภทนี้เหมาะสำหรับผู้ลงทุนที่ยอมรับความเสี่ยงได้ปานกลาง
กองทุนรวมตราสารทุน กองทุนรวมที่เน้นลงทุนในตราสารทุนประเภทต่างๆ เช่น หุ้นสามัญ หุ้นบุริมสิทธิ ใบสำคัญแสดงสิทธิ (warrants) รวมถึงหน่วยลงทุนของกองทุนรวมหุ้น ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 65 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (NAV) ของกองทุนรวม (คำนวณโดยเฉลี่ยในแต่ละรอบปีบัญชี) กองทุนรวมประเภทนี้เหมาะกับนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้สูง
กองทุนรวมอุตสาหกรรม กองทุนรวมที่มีนโยบายการลงทุนในตราสารทุนของบริษัทที่มีธุรกิจหลักประเภทเดียวกัน หรือกลุ่มอุตสาหกรรมเดียวกันโดยเฉลี่ยไม่ต่ำกว่าร้อยละ 65 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (NAV) ของกองทุนรวม แต่เนื่องจากกองทุนรวมประเภทนี้มีการลงทุนแบบกระจุกตัวจึงมีความเสี่ยงสูงกว่ากองทุนรวมตราสารทุนทั่วไป กองทุนรวมประเภทนี้เหมาะกับนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้สูง
กองทุนรวมที่ลงทุนในทรัพย์สินทางเลือก เช่น หน่วยลงทุนของกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ หน่วยลงทุนของกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน สินค้าโภคภัณฑ์ เช่น น้ำมันดิบ รวมถึงทองคำ
กองทุนประเภทนี้เหมาะกับนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้สูง
ลงทุนกับธนาคารออมสินดีอย่างไร
สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม หรือติดต่อขอรับหนังสือชี้ชวนได้ที่ ธนาคารออมสินทุกสาขา
หมายเหตุ :
ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลในหนังสือชี้ชวนของแต่ละกองทุน และข้อมูลอื่นๆ ในเว็บไซต์
การลงทุนไม่ใช่การฝากเงิน และมีความเสี่ยงในการลงทุน ผู้ลงทุนอาจได้รับเงินลงทุนมากกว่าหรือน้อยกว่าเงินลงทุนเริ่มแรกก็ได้ และอาจไม่ได้รับชำระเงินค่าขายคืนหน่วยลงทุน ภายในระยะเวลาที่กำหนด หรืออาจไม่สามารถขายคืนหน่วยลงทุนได้ตามที่มีคำสั่งไว้
ทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน
*ช่องทาง MyMo MyFund ให้บริการหน่วยลงทุนจาก บริษัท หลักทรัพย์จัดการกองทุน เอ็มเอฟซี จํากัด (มหาชน) เท่านั้น