ขึ้นชื่อว่าการลงทุน ย่อมมีความเสี่ยงเป็นธรรมดาอย่างที่ เรอเน่ แองเจลิ เคยกล่าวไว้ว่า “การเล่นเกมที่แท้จริงนั้น ก็คือการเผชิญหน้าต่อสู้กับโชคชะตาของคุณเอง” ชีวิตที่ไม่ลองเสี่ยงอะไรสักอย่าง มันจะมีสีสันหรอ หากอยากจะรวย ก็ต้องลอง แต่ทุกครั้งที่ลองเราต้องมั่นใจว่าเราจะต้องมีโอกาสชนะมากที่สุด
ในการลงทุนก็เช่นกัน กองทุนตัวไหนให้ผลตอบแทนมาก ย่อมมีความเสี่ยงมากเป็นธรรมดา ซึ่งแต่ละตัวจะตอบโจทย์ไลฟไตล์ของแต่ละคนแตกต่างกันมันไม่มีสูตรตายตัวว่าทุกคนต้องซื้อตัวนี้ หรือตัวนั้น บทความนี้เรามาพูดกันถึงการดูความเสี่ยงให้เหมาะกับไลฟไตล์และเป้าหมายทางการเงินของเราเองให้มากที่สุด เพื่อลดความผิดพลาดอันเกิดจากปัจจัยความเสี่ยงที่ควบคุมไม่ได้ หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ความเสี่ยงที่เกิดจากโชคชะตานั่นเอง
ในการเลือกกองทุนหุ้นซักกองเข้าพอร์ต เรานั้นมีประเด็นหลักที่ต้องพิจารณากันอยู่ 3 ปัจจัย ได้แก่
1. การลงทุนให้ตรงกับเป้าหมายของตัวเอง
เช่น ต้องการลงทุนเพื่อให้ได้เงินในระยะสั้น หรือลงทิ้งไว้ใช้ยามเกษียณ ฯลฯ
2. ผลตอบแทนที่ได้ควรจะดีกว่าค่าเฉลี่ย
และจะให้ดี ต้องดีกว่ากองทุนอื่นๆในประเภทกองทุนเดียวกัน กล่าวคือ การเลือกกองทุน ก็เหมือนสินค้า ดังนั้น เราต้องมีการเปรียบเทียบอย่างถี่ถ้วนเสียก่อนจะวางเงินลงไป
3. ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นต้องเป็นความเสี่ยงที่เรารับรู้ได้ตั้งแต่ยังไม่ลงทุน
กองทุนที่ดีต้องไม่ผันผวนมากเกินไป เพื่อประโยชน์ในแง่ของการกระจายความเสี่ยงถ้าเปรียบกับการใช้ชีวิตเรา ก็เหมือนกับการดูดวงที่เราจะต้องรู้อนาคตให้หมดว่าดีสุดเราจะได้อะไร และร้ายสุดจะเกิดอะไรขึ้น ซึ่งเราจะต้องทำใจได้แล้วเมื่อเหตุการณ์เหล่านี้เกิด เรายังอยู่ได้ และมีแผนสำรองรับ ซึ่งจะต่างจากการพนันหรือซื้อหวยโดยสิ้นเชิงที่ทุกสิ่งจะเป็นไปตามความน่าจะเป็น
เมื่อพิจารณาถึงความต้องการเสร็จแล้ว เรามาดูตัวแปรต่าง ๆ ที่ช่วยในการตัดสินใจกัน
ตัวแรกได้แก่ MorningStar Rating หรือ ดาว ตัวนี้จะคล้าย ๆ กับการจัดอันดับโรงแรม โรงแรมดีก็ 5 ดาว โรงแรมเน่าก็ไม่มีดาว โดยกองทุนที่มีคะแนนดาวสูงจะมีความหมายว่า เมื่อเทียบผลตอบแทนกับความเสี่ยงแล้วสมเหตุสมผลโดย MorningStar พิจารณาให้ Rating จากผลการดำเนินงานย้อนหลัง 1 ปี 3 ปี และ 5 ปี โดยใช้โมเดลความเสี่ยงเข้ามาจับ หากกองทุนใดที่ผลตอบแทนสูง ก็จริง แต่ความผันผวนสูงตามไปด้วย Rating ก็จะลดลง
ตัวต่อไปคือ NAV (Net Asset Value) หรือมูลค่าของกองทุนรวมทั้งกองทุนเรียกกันจนคุ้นหูว่ามูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวมในมุมมองของนักลงทุนในกองทุนรวม เราควรพิจารณาผลตอบแทนย้อนหลังเป็นปัจจัยประกอบการตัดสินใจตรงนี้ไม่ต้องไปสนใจว่า NAV จะแพงหรือไม่แพงนะ เพราะNAVถูกไม่ได้หมายความว่าจะดีเสมอไปและยิ่งเป็นกองทุนหุ้นปันผลแล้ว ส่วนใหญ่ NAV จะอยู่ในระดับต่ำกันทั้งนั้น เพราะ ผลการดำเนินงานที่ดี ผู้จัดการกองทุนก็จัดการแบ่งกำไรปันผลออกมาให้เราทุกไตรมาส กลายเป็นว่า NAV จึงไม่ได้ขยับไปไหน
ตัวต่อไปคือ Standard Deviation (S.D.)หรือคือค่าความผันผวนของ NAV ในอดีตที่ผ่านมา ยิ่งค่านี้สูงมากเท่าไหร่ ยิ่งแสดงว่า กองทุนนั้นมีผันผวนสูง โดยปกติ กองทุนหุ้นปันผล เมื่อเทียบกับกองทุนประเภทอื่น จะมีค่า S.D. ที่ต่ำกว่าอยู่แล้ว เพราะหุ้นในพอร์ตที่มีการจ่ายปันผลดี มักจะมีความผันผวนในแง่ของราคาตลาดต่ำกว่าพวกหุ้น Growth Stock หรือ Turnaround Stockนั่นเอง
นอกจากนี้ยังมีเรื่องของ Sharpe Ratio หรือตัววัดผลตอบแทนเปรียบเทียบความเสี่ยงถือเป็นอัตราส่วนที่นิยมใช้กันอย่างมากในหมู่นักลงทุนกองทุนรวม เพราะสามารถหาค่าเองได้ไม่ยาก โดยเอาผลตอบแทนในแต่ละงวดมาหารด้วย S.D. ในงวดเดียวกัน ค่า Sharpe Ratio ที่สูงหมายถึง ผลตอบแทนเปรียบเทียบความเสี่ยงแล้วดีกว่ากองทุนอีกกองที่มีนโยบายการลงทุนเหมือนกัน
และสุดท้ายเรื่องของ Expense Ratio นั้นคือค่าใช้จ่ายในการลงทุนโดยรวมทุกอย่างทั้ง Front-end และ Back-end Fee ค่าธรรมเนียมการจัดการ ผู้ดูแลผลประโยชน์ ฯลฯ ยิ่งค่ามาก แสดงว่า กองทุนเก็บค่าธรรมเนียมสูงแต่ประเด็นก็คือ เราควรใช้สติดูดี ๆ เพราะการเก็บค่าธรรมเนียมสูงใช่ว่าจะดีเสมอไป ดังนั้นเราจึงต้องดูตัวอื่นประกอบกันไปด้วย
สรุปคือยิ่งมีข้อมูลมากพอก่อนตัดสินใจเลือกกองทุนก็ยิ่งมีผลดีกับตัวคุณเอง สิ่งสำคัญคือการเลือกกองทุนที่เหมาะกับคุณมากที่สุด กองทุนที่คุณรับความเสี่ยงได้มากที่สุด และหากให้ปันผลด้วยควรเลือกถือเป็นกำไรที่ดีพอควร อย่างไรก็ตามอย่าลืมว่าเงินทุกบาทที่จ่ายไป คุณควรจะต้องมีสำรองเอาไว้ในกรณีฉุกเฉินเสมอ
————————–