ต้องไม่ลืมว่าราคาข้าวของแพงขึ้นทุกวันตามอัตราเงินเฟ้อ ดังนั้น การเก็บเงินไว้เฉย ๆ ไม่นำมาลงทุนอะไรเลย มูลค่าของเงินจะลดลงเรื่อย ๆ จึงควรแบ่งเงินบางส่วนออกมาลงทุน ปล่อยให้เงินทำงานแทนเรา แต่ก็ต้องรู้จักเลือกลงทุนให้เหมาะสมด้วยค่ะ โดยมีคำแนะนำ คือ
- ควรลงทุนในสินทรัพย์ที่ได้รับดอกเบี้ย หรือเงินปันผลอย่างสม่ำเสมอ จะได้มีเงินมาหมุนเวียนใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน
- เลือกลงทุนในสินทรัพย์หลากหลายประเภท เช่น เงินฝาก, ตราสารหนี้, พันธบัตรรัฐบาล, สลากออมทรัพย์, กองทุนรวม, หุ้น ฯลฯ
- เน้นลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ-ปานกลาง มากกว่าสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูง เพื่อป้องกันการขาดทุนและสูญเสียเงินก้อนสุดท้ายในชีวิต แต่ก็ไม่ควรลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำเพียงอย่างเดียว เพราะจะได้รับผลตอบแทนที่ต่ำมากจนสู้อัตราเงินเฟ้อไม่ไหว
จากคำแนะนำข้างต้น เราอาจแบ่งพอร์ตการลงทุนได้ ดังนี้
- สินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ มีสภาพคล่องสูง สามารถเปลี่ยนเป็นเงินสดได้ง่ายในเวลาที่ต้องการใช้ เช่น เงินฝากออมทรัพย์, กองทุนรวมตลาดเงิน ประมาณ 20-40% หรือประมาณ 6-12 เท่าของค่าใช้จ่ายประจำ
- สินทรัพย์ที่เหมาะกับการลงทุนระยะกลาง เช่น สลากออมทรัพย์, พันธบัตรรัฐบาล, กองทุนตราสารหนี้, หุ้นกู้ ประมาณ 30-50%
- สินทรัพย์ที่มีความผันผวนสูง แต่มีโอกาสได้ผลตอบแทนเพิ่มขึ้น เช่น หุ้น, กองทุนรวมหุ้น, กองทุนอสังหาริมทรัพย์, ทองคำ ประมาณ 5-15%
ทั้งนี้ การจัดพอร์ตต้องขึ้นอยู่กับระดับความเสี่ยงที่เรารับได้ด้วยนะคะ หากรับความเสี่ยงได้ต่ำ ก็ควรลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำในสัดส่วนที่มากขึ้น เช่น เพิ่มสัดส่วนเงินฝากออมทรัพย์เป็นมากกว่า 50% ขึ้นไป เพื่อให้มั่นใจว่าจะสามารถรักษาเงินต้นเอาไว้ได้
อย่างไรก็ตาม ข้อสำคัญก็คือ ไม่ว่าจะลงทุนประเภทใด ต้องศึกษาข้อมูลและพิจารณาให้รอบด้านก่อนทุกครั้ง หรือปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุน