การพักร้อนคือช่วงเวลาแห่งปีที่คนวัยทำงานต่างเฝ้ารอคอยเพราะการพักผ่อนคือการที่ร่างกายและจิตใจที่ผ่านการตรากตรำมาอย่างหนักหน่วงได้ผ่อนคลายความเคร่งเครียด ทั้งผลลัพธ์ของการหยุดพักยังช่วยส่งผลทางบวกต่อสมรรถภาพการทำงานอีกด้วย วันหยุดจึงไม่เพียงนับว่าสำคัญแต่ยังจำเป็นยิ่งต่อคนทำงานให้ยังคงสามารถรักษาสุขภาพกายและใจที่ดีเพื่อทุ่มเทกับงานในวันข้างหน้าได้อย่างเต็มที่ ถึงอย่างไรนั้น หลายครั้งที่การกลับมาทำงานหลังหยุดพักไปทำให้หลายคนเผชิญกับความหมองหม่นในใจ ในฐานะมนุษย์เงินเดือนเราควรจะจัดสรรเวลาวันหยุดอย่างไรถึงจะดีต่อใจในระยะยาว
รู้จักภาวะซึมเศร้าหลังเที่ยว เกิดจากอะไร
สภาวะของหัวใจที่แสนหดหู่นี้เป็นความรู้สึกทางลบรูปแบบหนึ่งที่มักเกิดขึ้นหลังจบทริปท่องเที่ยวแสนสนุกหรือวันหยุดแสนยาวนาน ซึ่งเป็นภาวะที่มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการครั้งแรกว่า Post-Holiday Blues เมื่อปี 1955 เพราะไม่ว่าใครก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าวันหยุดพักผ่อนนั้นเป็นโอกาสดีให้เราได้วางมือจากกิจกรรมเคร่งเครียดทั้งหลายเพื่อมาปล่อยใจสบายๆ ให้เวลากับสุขภาพจิตใจและร่างกายได้ฟื้นตัวอีกครั้ง ด้วยเหตุนี้เองเมื่อต้องกลับมาเผชิญชีวิตประจำวันอันเคร่งเครียดและก้มหน้าทำแต่งานอีกครั้ง หลายคนจึงมักเผชิญกับภาวะเศร้าหมองในใจจนเกินอาการต่างๆ ตามมา
รู้ได้อย่างไรว่าเรากำลังเผชิญภาวะซึมเศร้าหลังเที่ยว
ภาวะใจหมองหม่นหลังเที่ยวนี้มีอยู่จริง และมีมนุษย์ทำงานมีโอกาสเผชิญกับภาวะที่ว่านี้ได้ตลอดชีวิตการทำงาน สิ่งสำคัญคือการหมั่นสังเกตอาการเพื่อทำความเข้าใจในอารมณ์ความรู้สึกของตัวเองเพื่อหาหนทางป้องกันในอนาคตครั้งหน้าเพื่อจะได้ไม่ต้องพะวงกับอารมณ์ทางลบที่ใจเราไม่ต้องการ อาการดังกล่าวมีได้ตั้งแต่
- รู้สึกหวั่นวิตกแต่บอกสาเหตุไม่ได้
- รู้สึกขุ่นเคืองใจ ฉุนเฉียว โมโหง่าย
- รู้สึกถวิลหาความสุขที่ผ่านไปแล้ว
- นอนหลับยากขึ้น
- รู้สึกไม่สบายใจ เครียดและกังวล
- ไม่สามารถจดจ่อกับงานที่ทำได้
- หมดแรงจูงใจในการทำงาน
ดูแลใจอย่างไรให้หายหมองหม่นหลังเที่ยว
การดูแลใจอย่างดีที่สุดที่คนทั่วไปจะพอทำได้คือการเตรียมพร้อมและประคับประคองความรู้สึกอย่างเข้าใจ การรับมือกับหัวใจที่หม่นหมองเมื่อต้องกลับมาทำงานอีกครั้งสามารถตระเตรียมได้ตั้งแต่ก่อนการเดินทาง เพื่อไม่ให้ความรู้สึกเชิงลบที่เกิดส่งผลเสียและกระทบกับการทำงาน เช่น
- เก็บกวาดบ้านให้เรียบร้อยก่อนออกเดินทางเพื่อจะได้ไม่ต้องมาเหน็ดเหนื่อทำความสะอาดย้อนหลัง
- กลับมาอยู่บ้านก่อนวันทำงาน 2-3 วัน
- พยายามปรับเวลาการนอนหลับและตื่นนอนให้ตรงกับเวลาทำงานปกติ
- ปรับเวลาการทำงานให้สมเหตุสมผล ไม่หักโหมจนเกินไป
- ฝึกการบริหารร่างกายที่ช่วยผ่อนคลายความเครียด
- แพลนทริปครั้งหน้าเพื่อหาแรงกระตุ้นในการทำงาน
- เขียนรีวิวการเที่ยวลงบล็อก ลงรูปบนโซเชียลมีเดีย
ที่มาข้อมูล Healthline, PsyCom, PsychCentral, Medical News Today