ทำไมหลังคอนเสิร์ตทีไรมักรู้สึกว่าใจหม่นหมองเสียทุกครั้ง Post-Concert Depression คืออะไร และคนรักการไปคอนควรรับมือภาวะทางใจนี้อย่างไร
เชื่อว่าหลังมาตรการต่างๆ ด้านโรคระบาดทุเลาความเข้มงวดลง หลายคนเริ่มมองหาความบันเทิงจากกิจกรรมนอกบ้านตามปกติอีกครั้ง แน่นอนว่าหนึ่งในเรื่องบันเทิงที่เฝ้ารอคอยนั้นจะขาดคอนเสิร์ตของศิลปินดังในดวงใจไปไม่ได้ การได้ใช้เวลาดื่มด่ำบรรยากาศแสนสนุกและดนตรีแสนไพเราะที่บรรเลงพร้อมกับผู้คนจำนวนมากที่ชื่นชอบในสิ่งเดียวกันย่อมเป็นความทรงจำที่ยากจะลืมเลือน ทว่าความผูกพันธ์กันด้วยความสุขมีอิทธิพลทางความรู้สึกมากกว่าที่คิด จึงเป็นที่มาให้หลังคอนเสิร์ตเสร็จสิ้นทีไร มักตามมาด้วยความรู้สึกเศร้าใจที่อธิบายได้ยาก โดยเรียกกันทั่วไปว่า Post-Concert Depression
Post-Concert Depression คืออะไร
Post-Concert Depression (PCD) คือ อารมณ์เศร้าสร้อยที่ตามมาหลังความรู้สึกตื่นเต้นยินดีที่เกิดในคอนเสิร์ตจบสิ้นลง เป็นภาวะทางอารม์ที่เกิดขึ้นได้เป็นปกติในหมู่แฟนเพลงที่คลั่งไคล้ แต่คนฟังเพลงทั่วไปอาจมีคำถามสงสัยว่าการไปดูคอนเสิร์ตเพียงครั้งเดียวสามารถปรุกเราอารมณ์ผู้ชมได้มากขนาดนี้เชียวหรือ ซึ่งไม่เกินจริงแต่อย่างใด เพราะหากสำรวจผ่านตัวเลขการเติบโตของคอนเสิร์ต หนึ่งรูปแบบความบันเทิงที่ประสบความสำเร็จทั่วโลก ซึ่งเป็นธุรกิจที่เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องและทวีความรุ่งเรืองในปี 2022 นี้เทียบกับช่วงซบเซาในช่วงปี 2020-2021 ถึง 500% โดยคาดคะเนว่าจะสามารถสร้างความสะพัดให้เม็ดเงินในวงการได้กว่า 20.4 Billion US (สองหมื่นล้านเหรียญสหรัฐ) และมีแนวโน้มว่าตัวเลขนี้จะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ
เห็นแล้วว่าธุรกิจคอนเสิร์ตเป็นที่นิยมไม่เสื่อมคลาย สาเหตุหนึ่งก็เนื่องด้วยความเฉพาะตัวของประสบการณ์ทางดนตรีที่แฟนเพลงและศิลปินได้สร้างความทรงจำร่วมกันแบบเรียลไทม์ท่ามกลางคอนเสิร์ต ซึ่งยังคงหาสิ่งอื่นใดมาทดแทนไม่ได้ ความพิเศษนี้เองจึงอธิบายได้ว่าทำไมแฟนเพลงหลายคนไม่น้อยพบเจอกับความรู้สึกเศร้าหมองใจเมื่อคอนเสิร์ตจบลง นั่นก็เพราะช่วงเวลาที่มีความสุขอย่างท่วมท้นได้จบลงแล้วนั่นเอง
อาการทางใจที่บอกว่าเรากำลังเผชิญ Post-Concert Depression
การสำรวจอารมณ์ตัวเองหลังอารมณ์ที่คั่งค้างจากความสุขที่เกิดขึ้นหลังคอนเสิร์ตแปรเปลี่ยนเป็นความหม่นหมองอาจช่วยให้เราสามารถทำความเข้าใจเพื่อรับมือกับความเศร้าใจนี้ได้ดีขึ้น เช่น
- ความรู้สึกเศร้าเหมือนอกหักหรือสูญเสียสิ่งที่เป็นที่รัก
- ใจไม่อยู่กับเนื้อกับตัว จดจ่อแต่เรื่องคอนเสิร์ต
- ไม่มีสมาธิทำงานหรือโฟกัสเรื่องสำคัญนานๆ
- วนดูรูปภาพหรือวิดีโอคอนเสิร์ตซ้ำๆ
- วิตกกังวลว่าอาจไม่มีโอกาสได้ไปคอนเสิร์ตอีกแล้ว
- รู้สึกไม่ยี่หระกับสิ่งใด
แน่นอนว่าอาการเหล่านี้เป็นเพียงภาวะชั่วคราวทางจิตใจเท่านั้นและหายได้เองตามระยะเวลา ทว่าการฝึกฝนเพื่อรับมือกับอารมณ์เชิงลบที่เกิดขึ้นก็สำคัญต่อสุขภาพทางจิตใจระยะยาวเช่นกัน
ไม่อยากเศร้าใจทุกครั้งหลังคอนเสิร์ตจบ ควรดูแลใจอย่างไร
ท้ายที่สุดทุกงานเลี้ยงย่อมมีวันเลิกรา ทว่าความสุขที่เกิดขึ้นในคอนเสิร์ตกลับฟุ้งเฟ้ออยู่ในความรู้สึกนานกว่านั้น สิ่งสำคัญคือการไม่ปล่อยให้ความเศร้าหมองที่อาจเกิดขึ้นได้มาเป็นสิ่งบั่นทอนจิตใจ โดยการปล่อยวางทางอารมณ์ด้วยวิธีต่างๆ ดังเช่น
- การวางแผนออมเงิน เพื่อคอนเสิร์ตครั้งถัดไป เพราะไม่ว่าจะจัดขึ้นอีกครั้งเมื่อไหร่เราก็พร้อมไฟท์เพื่อบัตรแพงสุดหรือแถวหน้าสุดก่อนใคร
- ออกไปสถานที่ใหม่ๆ เมื่อไม่จำเป็นต้องกักตัวอยู่แต่ในบ้านอีกต่อไป การออกไปสร้างประสบการณ์แปลกใหม่ด้วยการเยี่ยมชมสถานที่ไม่คุ้นเคยหรือไม่เคยไป ก็เป็นการกระตุ้นอารมณ์เชิงบวกและเปิดโลกกว้าง
- ทำอะไรท้าทายตัวเอง เพื่อไม่ต้องจดจ่ออยู่กับอารมณ์โหยหา เช่นลงเรียนคอร์สต่างเพื่อฝึกสกิล ฝึกทักษะสร้างสรรค์ อย่างเช่น การหัดเล่นดนตรี เรียนทำขนม ฝึกวาดรูปสร้างงานศิลปะ
- เรียนรู้การสงบใจ เช่น การฝึกใจอยู่กับปัจจุบัน การจดบันทึกไดอารี่ ก็เป็นอีกวิธีสร้างเสริมความเข้มแข็งให้กับจิตใจได้เช่นกัน