การวางแผนชีวิตของมนุษย์วัยทำงานจะเปลี่ยนไปอย่างไรหากอนาคตในอีก 10 ปีข้างหน้าจำนวนผู้สูงวัยจะเท่ากับ 1 ใน 3 ของประชากรไทยทั้งหมด จากข้อมูลตามสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่า ในปี 2022 กว่า 18.24% ของประชากรทั้งหมดในไทยจะเป็นผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป ตัวเลขนี้คือสัญญาณสำคัญที่กำลังบอกว่าปัจจุบันประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมสูงวัย (Aging Society) อย่างเลี่ยงไม่ได้ การวางแผนเพื่อชีวิตในบั้นปลายที่สุขสบายจึงควรเริ่มต้นที่การสร้างความมั่นคงตั้งแต่วัยทำงาน
สังคมสูงวัยที่ไร้บุตรหลาน ส่งผลต่อมนุษย์วัยทำงานอย่างไร
ขณะที่จำนวนประชากรย่างเข้าสู่วัยชราเพิ่มขึ้นทุกปี ทว่าในภาพรวมของโครงสร้างสังคมกลับมีสัดส่วนของครัวเรือนที่มีบุตรลดน้อยลงและมีครัวเรือนที่ไร้บุตรหลานเพิ่มสูงขึ้นถึงร้อยละ 37.4 ของครัวเรือนทั้งหมด โดยมีแนวโน้มที่จะเป็นเช่นนี้มากขึ้นอีกในอนาคต ซึ่งสามารถส่งผลกระทบต่อความรู้สึกมั่นคงในชีวิตของวัยทำงานได้ใน 2 ทางคือ
ผลกระทบทางการเงินเมื่อเข้าสู่วัยชรา
การที่ประเทศไทยเป็นประเทศกำลังพัฒนา ทำให้ประสิทธิภาพของระบบสวัสดิการรัฐยังไม่สามารถแข็งแรงพอที่จะรองรับจำนวนประชากรผู้สูงวัยที่เพิ่มมากขึ้นเป็นจำนวนมากได้อย่างเพียงพอ บวกกับการไร้บุตรหลานเป็นที่พึ่งจึงทำให้ช่วงวัยชราขาดความช่วยเหลือทางการเงินเมื่อถึงคราวจำเป็นและต้องพึ่งพาต้นทุนของตนเองเป็นหลัก ซึ่งหากไม่ได้มีการวางแผนล่วงหน้าเตรียมไว้ดีพออาจส่งผลต่อสถานภาพทางการเงินจนรู้สึกไม่มั่นคงได้
ผลกระทบทางสุขภาวะของจิตใจ
เชื่อว่าเมื่อเข้าสู่วัยเกษียณ การหลีกเลี่ยงความโดดเดี่ยวเดียวดายกลายเป็นเรื่องที่ทำได้ยากขึ้นเมื่อขาดหายปฏิสัมพันธ์ในที่ทำงานทำให้หลายคนอาจประสบกับความเหงาหลังรีไทร์ได้เหมือนกัน ทั้งการไม่มีลูกหลานอยู่ด้วยอย่างใกล้ชิดยังอาจมีผลให้คนในวัยชราเผชิญกับภาวะซึมเศร้าได้ง่าย โดดเดี่ยวและแปลกแยกจากผู้คนเพราะมีส่วนร่วมกับสังคมน้อยกว่าวัยอื่น
Healthy Aging เตรียมพร้อมอย่างไรให้ชราวัยอย่างมั่นคง
นิยามของคำว่าผู้สูงอายุตามที่ยอมรับโดยทั่วไปหมายถึงการมีอายุ 60 ปีขึ้นไป ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าในวันที่ความชรามาเยือนอาจเป็นยามที่เราสามารถช่วยเหลือตัวเองได้น้อยลงเนื่องด้วยสมรรถภาพทางกายที่เสื่อมถอยลงตามกาลเวลา เดินเหินไม่คล่องตัวเหมือนแต่ก่อน เริ่มหลงๆ ลืมๆ ไหนจะมองเห็นไม่ชัดได้ยินไม่ถนัด และเป็นเรื่องจริงที่ไม่ว่าจะมีลูกหลานหรือไม่ หรือเข้าถึงสวัสดิการรัฐได้มากน้อยเพียงใด แต่ท้ายที่สุดแล้ว ใจเป็นนายกายเป็นบ่าว เพียงเรามีทัศนคติเชิงบวกที่มุ่งหวังทางออกที่ดีที่สุด การเตรียมพร้อมตั้งแต่วันนี้เพื่อชีวิตบั้นปลายที่สุขสบายคือเป้าหมายหลักของวัยทำงาน ได้แก่
วางแผนออมเงินหลังเกษียณ
เมื่อพูดถึงการออมเงินสำหรับเกษียณ ยิ่งเริ่มต้นออมไวเท่าไหร่ยิ่งได้กำไรเท่านั้น ด้วยการประเมินจากสถานการณ์ทางการเงินปัจจุบันตั้งแต่รายได้ รายจ่าย และยอดหนี้ จะช่วยให้สามารถคาดคะเนได้ว่าจำนวนเงินเท่าไหร่ที่แต่ละคนควรมีให้พร้อมเพื่อการเกษียณ จากนั้นจึงค่อยตั้งเป้าหมายช่วงวัยที่ตั้งใจจะรีไทร์เพื่อให้สามารถตัดสินใจเรื่องเส้นทางอาชีพและเงินเดือนที่ส่วนนี้จะช่วยให้สามารถวางแผนออมเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นโดยการแบ่งสัดส่วนเงินออมอย่างเหมาะสมทั้งยังเห็นภาพรวมของการลงทุนอย่างต่อเนื่อง วางแผนเกษียณอย่างไรให้ชีวิตมั่นคงทางการเงิน
ลงทุนเรื่องสุขภาพ
การลงทุนเรื่องสุขภาพมักมาพร้อมตัวเลือกที่หลากหลายดังนั้นแล้วการจัดลำดับความสำคัญคือสิ่งที่ควรคำนึงถึงเป็นอย่างแรกเพื่อให้สามารถจัดสรรงบประมาณเงินที่มีได้อย่างเหมาะสม สิ่งแรกที่ควรทำเมื่อเข้าสู่วัยทำงานคือการตรวจสุขภาพเพื่อเฝ้าระวังโรคร้ายและป้องกันการเจ็บป่วยอันตรายที่ไม่คาดคิด มนุษย์เงินเดือนจึงควรเข้ารับการตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปีตามที่บริษัทจัดหาให้ พร้อมทั้งเอาใจใส่กับไลฟ์สไตล์ที่ดีต่อสุขภาพ ตั้งแต่ การเลือกรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ และออกกำลังอยู่เสมอ ท้ายที่สุดที่ละเลยไม่ได้คือการลงทุนระยะยาวเพื่อความมั่นคงในชีวิตอย่างการทำประกันชีวิตที่ตอบโจทย์ทั้งประกันสุขภาพและอุบัติเหตุในอันเดียว เพราะทั้งคุ้มครองการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ ค่ารักษาพยาบาลทั้งผู้ป่วยในและผู้ป่วยนอก ทั้งหมดนี้คือหนทางสร้างความมั่นคงทางจิตใจของมนุษย์ทำงานที่ต้องวางแผนล่วงหน้าสำหรับอนาคตที่กำลังจะเข้าสู่สังคมสูงวัยที่ไร้บุตรหลาน
ที่มาข้อมูล ประชาชาติธุรกิจ