ในวันที่เงินเดือนไม่พอใช้ ไหนจะเงินเก็บก็เหลือร่อยหรอลงทุกที สิ่งเหล่านี้อาจเป็นปัญหาชีวิตที่วัยทำงานกำลังพานพบอย่างเลี่ยงไม่ได้ การลงทุนในกองทุนรวมจึงเป็นทางออกเพื่อหวังผลตอบแทนและกำไรกลับคืนมา แต่ถึงอย่างไรการลงทุนในกองทุนรวมไม่ใช่การฝากเงิน แม้จะมีโอกาสที่ได้รับผลตอบแทนที่สูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝาก ทว่าก็มีความเสี่ยงที่จะขาดทุนเช่นกัน เพราะการลงทุนมีความเสี่ยงจึงต้องศึกษาข้อมูลทุกครั้งก่อนตัดสินใจ การเตรียมพร้อมความรู้ด้านการลงทุนคือสิ่งที่จะปูพื้นฐานที่มั่นคงเพื่อเพิ่มพูนสินทรัพย์ในระยะยาว
กองทุนรวม (Mutual Fund) คืออะไร
กองทุนรวม เป็นตราสารทางการเงินประเภทหนึ่งจากการรวบรวมเงินของนักลงทุนเพื่อนำเงินลงทุนที่รวมกันได้ไปลงทุนในสินทรัพย์ประเภทอื่นและทำให้เงินก้อนนี้เติบโตงอกเงยเพิ่มมากขึ้นกลับคืนไปสู่ผู้ซื้อหน่วยลงทุน โดยการลงทุนผ่านกองทุนรวมอยู่ภายใต้การกำกับและดูแลของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยรวมทั้งมีการบริหารโดยผู้จัดการกองทุนที่เชี่ยวชาญที่สอบผ่านคุณวุฒิทางการเงิน
เตรียมพร้อมอย่างไรก่อนเริ่มต้นลงทุนในกองทุนรวม
มีเป้าหมายทางการลงทุน
แม้การลงทุนในกองทุนรวมจะใช้เงินทุนไม่มากตั้งแต่หลักร้อยถึงหลักพันก็สามารถเริ่มต้นเส้นทางการเป็นนักลงทุนได้แล้ว ทั้งยังมีสภาพคล่องในการซื้อขายที่สามารถทำได้โดยง่ายผ่านบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนเหมาะสำหรับผู้เริ่มต้น แต่ถึงอย่างไรการมีเป้าหมายจากการลงทุนที่ชัดเจนย่อมเป็นทางเลือกที่ยั่งยืนกว่าเพื่อให้นักลงทุนสามารถวางแผนได้ว่าจะบริหารการลงทุนได้อย่างไรให้คุ้มค่ามากที่สุดและตอบโจทย์กับความต้องการ เช่น ลงทุนเพื่อลดหย่อนภาษี ลงทุนเพื่อเก็บไว้ใช้ในยามเกษียณ เป็นต้น เมื่อเทียบกับการลงทุนประเภทอื่นๆ แล้ว นอกจากนี้การลงทุนผ่านกองทุนรวมให้ผลตอบแทนกลับมาในหลายรูปแบบเช่น เงินปันผลที่มีเสียภาษี 10% (Dividened)หรือ กำไรส่วนต่างที่ไม่ต้องเสียภาษี (Capital Gain) ก่อนการลงทุนจึงต้องมีเป้าหมายให้กับตัวเองเพื่อให้เลือกลงทุนได้เหมาะสมกับผลตอบแทนที่ต้องการ
รู้จักประเภทกองทุนรวมเพื่อกระจายความเสี่ยง
การลงทุนในกองทุนรวมแต่ละประเภทมีความเสี่ยงแตกต่างกันขึ้นอยู่กับว่าเงินที่ลงทุนไปจะถูกเอาไปลงทุนกับกองทุนอะไรบ้าง จึงเป็นเรื่องจำเป็นที่นักลงทุนต้องศึกษาประเภทกองทุนรวมให้เข้าใจเพื่อให้การตัดสินใจลงทุนใดๆ ให้ผลประโยชน์ตอบแทนกลับมาคุ้มค่าที่สุด เช่น
- กองทุนตราสารหนี้ เช่นพันธบัตรรัฐบาลและหุ้นกู้ เป็นการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ เหมาะสำหรับนักลงทุนที่คาดหวังผลตอบแทนที่มากกว่าการฝากเงินกับธนาคาร เปลี่ยนรูปแบบเงินออมเป็นเงินลงทุนที่ความเสี่ยงน้อยกว่า
- กองทุนตราสารทุน เช่น กองทุนหุ้น กองทุนดัชนีหุ้น เป็นการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทหุ้นสามัญในตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ แม้ให้ผลตอบแทนมากขึ้นแต่ผู้ลงทุนก็ต้องพร้อมรับมือกับความเสี่ยงที่มากขึ้นเช่นเดียวกัน
- กองทุนรวมต่างประเทศ เป็นการซื้อกองทุนรวมในต่างประเทศเพื่อเพิ่มโอกาสการลงทุนตามศักยภาพในการเจริญเติบโตของประเทศนั้นๆ ซึ่งสามารถลงทุนได้ทั้งในกองทุนรวมตราสารหนี้ต่างประเทศ กองทุนรวมหุ้นต่างประเทศ เป็นต้น
- กองทุนที่มีสิทธิประโยชน์ทางภาษี เช่น กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) และ กองทุนรวมเพื่อส่งเสริมการออมระยะยาว (SSF)
- กองทุนรวมสินทรัพย์ทางเลือกและอื่นๆ เช่น ทองคำ น้ำมัน เป็นการกระจายความเสี่ยงไปยังสินทรัพย์ต่างๆ และเป็นกองทุนที่มีความเสี่ยงสูง
ศึกษา Fund Fact Sheet ให้ดี
คู่มือชั้นดีสำหรับนักลงทุนมือใหม่เพราะ Fund Fact Sheet คือหนังสือชี้ชวนการลงทุนที่จะบอกได้ว่ากองทุนกองนี้ลงทุนในอะไรบ้าง มีความเสี่ยงอะไรบ้าง และเงื่อนไขมีอะไรบ้าง มูลค่าขั้นต่ำในการซื้ออยู่ที่เท่าไหร่ เพื่อประกอบการตัดสินใจก่อนจะเลือกลงทุนในกองทุนใดกองทุนหนึ่งให้ได้รู้ถึงรายละเอียดสำคัญ ได้แก่
- นโยบายการลงทุน ที่บอกว่ากองทุนนี้เป็นกองทุนประเภทอะไร เพราะกองทุนประเภทแตกต่างกันย่อมให้ผลตอบแทนที่แตกต่างกัน ทำให้กลยุทธ์ในการลงทุนแตกต่างกันออกไปด้วย เช่น ลงทุนแบบ Active หรือ ลงทุนแบบ Passive
- ความเสี่ยงในการลงทุน ที่จะแบ่งระดับความเสี่ยงของกองทุนไว้อย่างชัดเจน เช่นกองทุนรวมตลาดเงินในประเทศที่มีความเสี่ยงน้อยในขณะที่กองทุนรวมสินทรัพย์ทางเลือกที่มีความเสี่ยงมาก
- สัดส่วนของการลงทุน เพราะการลงทุนในการลงทุนรวมเป็นการกระจายความเสี่ยงในกองทุนที่หลากหลาย ไม่ทุ่มไปที่ใดที่หนึ่ง ซึ่งจะชี้แจงสัดส่วนการลงทุนไว้อย่างชัดเจนแบ่งเป็นเปอร์เซ็นต์ให้เข้าใจได้
- ค่าธรรมเนียมที่มีการเรียกเก็บ เช่น ค่าธรรมเนียมจากการบริหารจัดการ และค่าธรรมเนียมในการซื้อ/ขาย เมื่อผู้ลงทุนมีข้อมูลเรื่องค่าธรรมเนียมที่จะต้องเสียอย่างชัดเจนจะช่วยให้สามารถเปรียบเทียบความแตกต่างเพื่อเลือกกองทุนที่ให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่ามากที่สุด
- ผลตอบแทนย้อนหลัง เพื่อให้เปรียบเทียบได้ว่ากองทุนที่มีความคล้ายคลึงกันมีประสิทธิภาพในการเงินบริหารได้ดีกว่ามากน้อยแค่ไหน
เข้าใจเรื่องค่าธรรมเนียม
เมื่อตัดสินใจลงทุนในกองทุนรวม การลงทุนนี้จะมีผู้จัดการกองทุนช่วยบริหารการลงทุนให้ร่วมกับผู้ดูแลรักษาผลประโยชน์เพื่อช่วยให้สามารถเข้าถึงสินทรัพย์การลงทุนต่างๆ ที่ไม่สามารถเข้าถึงเองได้ ซึ่งค่าบริการจากการบริหารกองทุนรวมจะอยู่ในรูปแบบของค่าธรรมเนียมและจะถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ค่าธรรมเนียมที่ถูกเรียกเก็บเมื่อทำธุรกรรมเกี่ยวกับกองทุนเช่นซื้อ ขาย หรือสับเปลี่ยนกองทุน และ ค่าธรรมเนียมที่ถูกเรียกเก็บจากกองทุนรวม การเข้าใจค่าธรรมเนียมจะช่วยให้สามารถตัดสินเลือกลงทุนในกองทุนได้อย่างคุ้มค่า สร้างกำไรกลับมาได้มากกว่า
เลือกผู้ช่วยการลงทุนที่ตอบโจทย์
การใช้บริการธุรกรรมกองทุนคือทางเลือกหนึ่งที่ช่วยให้นักลงทุนมือใหม่เริ่มต้นลงทุนได้สะดวกคล่องตัวมากขึ้น เช่น MyMo MyFund โดยออมสินที่จะมาเป็นเพื่อนคู่ใจนักลงทุนให้สามารถเลือกทำธุรกรรมต่างๆ เช่น การซื้อ ขาย และสับเปลี่ยนกองทุนได้สะดวกรวดเร็วและปลอดภัยมากขึ้น เปลี่ยนรูปแบบการลงทุนให้เข้าถึงง่ายสำหรับทุกคนผ่านแอปพลิเคชั่น สามารถประเมินระดับความเสี่ยงเพื่อการลงทุนที่เหมาะสมได้ด้วยตัวเองพร้อมคำแนะนำสัดส่วนการลงทุนเบื้องต้นที่ใช้งานได้ตลอด 24 ชั่วโมง
ที่มาข้อมูล ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย