ควรเริ่มวางแผนเกษียนเมื่อไหร่ ? คำถามในใจของมนุษย์วัยทำงานที่มองการณ์ไกล เพราะท้ายที่สุดเส้นทางชีวิตทำงานก็ย่อมสิ้นสุดลงท่ีการเกษียณอายุ การสร้างความมั่นคงให้กับตัวเองจึงต้องเริ่มตั้งแต่การคำนวณค่าใช้จ่ายที่ต้องใช้ รู้ตัวเลขเงินเก็บที่ควรมี เพื่อเตรียมพร้อมออมเงินก่อนจะลงทุนให้ทรัพย์สินงอกเงย เพื่อให้สามารถวางแผนล่วงหน้าได้อย่างรอบคอบก่อนสาย
คำนวณค่าใช้จ่ายที่ต้องใช้หลังเกษียณเพื่อวางแผนการออม
ความมั่นคงทางการเงินสร้างได้ด้วยตัวเอง แต่ต้องมีเงินสะสมเท่าไหร่จึงจะเรียกได้ว่ามั่นคง จะรู้ได้ก็โดยการสำรวจตัวเราว่าในปัจจุบันมีจำนวนค่าใช้จ่ายมากน้อยอย่างไร เพื่อให้ประเมินได้ว่าในยามแก่ตัวไปจะมียอดค่าใช้จ่ายเท่าไหร่ เพื่อตั้งเป้าหมายในการออมเงิน ดังเช่น
- ค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันเพื่อการดำรงชีพ
- ค่าใช้จ่ายเพื่อความสะดวกสบายและความสุขของชีวิต
- ค่าดูแลเลี้ยงดูบุตรหลาน
- ค่ารักษาพยาบาล
- ค่าชำระหนี้สินที่ติดค้าง
วิธีคำนวณเงินเก็บที่ควรมีก่อนเกษียณ
เกษียนไปแล้วจะมีเงินพอใช้แค่ไหน คำนวณได้โดยวิธีต่อไปนี้
เงินเก็บที่ควรมีก่อนเกษียณ = ค่าใช้จ่ายต่อเดือน X 12 เดือน X จำนวนปีที่คาดว่าจะมีชีวิตอยู่
เช่น ตั้งใจให้ค่าใช้จ่ายต่อเดือนหลังเกษียณคิดเป็น 70% ของค่าใช้จ่ายปัจจุบัน (ขึ้นอยู่กับบุคคล) โดยปัจจุบันมีการใช้จ่ายต่อเดือนอยู่ที่ 35,000 บาท ค่าใช้จ่ายหลังเกษียณจะอยู่ที่ประมาณ 25,000 บาท เท่ากับจะมีค่าใช้จ่ายต่อปีหลังเกษียณทั้งหมดราวๆ 210,000 บาท เมื่อคิดแล้วเราอาจมีชีวิตอยู่หลังเกษียณได้ราวๆ 20 ปี เงินเก็บที่เราควรมีก่อนเกษียณจึงอยู่ที่ 6,000,000 บาท
เห็นตัวเลขออกมาแล้วอาจมองดูเป็นจำนวนเงินที่มากโข นี่จึงเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมยิ่งเริ่มออมเงินไวเท่าไหร่ยิ่งสร้างความมั่นคงเป็นกำไรชีวิตได้ไวเท่านั้น
อยากเกษียณไปแล้วมีเงินใช้ไม่ลำบาก เริ่มต้นที่การออม
ลำพังเงินออมที่เก็บหอมรอบริบอาจไม่พอใช้ตลอดไปในช่วงวัยเกษียณ การลงทุนเพื่อให้ผลตอบแทนกลับคืนจึงเป็นคำตอบที่ยั่งยืนของมนุษย์เงินเดือนที่มองหาความสุขสบายในช่วงปั้นปลายชีวิตโดยไม่ต้องกังวลกับเงินเก็บที่ร่อยหรอลงไป โดยมีวิธีคำนวณดังนี้
เงินเก็บที่ควรมีก่อนเกษียณ = ค่าใช้จ่ายต่อเดือน X 12 เดือน / อัตราผลตอบแทนการเงินออมต่อปี
เช่น ประเมินแล้วว่าค่าใช้จ่ายของชีวิตหลังเกษียณจะมีประมาณ 25,000 บาทต่อเดือน โดยมีผลตอบแทนจากการเงินออม 5% ต่อปี รูปแบบการคำนวณจึงออกมาเป็น 25,000 X 12 / 5% ซึ่งเท่ากับว่าหลังเกษียณไปเราจะมีเงินใช้ 6,000,000 บาท เป็นเป้าหมายในการเก็บเงินก่อนเกษียณเพื่อให้สามารถมีเงินใช้ 25,000 บาทต่อเดือนนั่นเอง
จะเห็นว่ายิ่งได้รับผลตอบแทนจากการออมเงินมากเท่าไหร่ ความกดดันในการเก็บก็จะน้อยลงมาเท่านั้น เช่นถ้าหากว่าค่าใช้จ่ายที่เท่ากัน 25,000 บาทต่อเดือน แต่มีผลตอบแทนจากการเงินออมมากถึง 10% ต่อปีเท่ากับว่าเราสามารถเก็บเงินก้อนที่ควรมีก่อนเกษียณได้น้อยลงถึง 3,000,000 บาท
การออมเงินอย่างชาญฉลาดเพื่อให้ได้ผลตอบแทนกลับคืนจึงเป็นหนึ่งหนทางยั่งยืนเพื่อความสุขสบายในช่วงสุดท้ายของชีวิต
เริ่มต้นออมเงินอย่างไรให้มีพร้อมใช้หลังเกษียณ
เมื่อรู้แล้วว่าเป้าหมายของการออมเงินคือชีวิตที่สุขสบายหลังเกษียณ เริ่มแรกของการวางแผนออมเงินคือการเรียนรู้รูปแบบของเงินออมเพื่อการงอกเงยผลตอบแทนในอนาคต ซึ่งหากเป็นวัยทำงาน สามารถแบ่งได้ดังนี้
- เงินออมอัตโนมัติ เป็นการออมเงินภาคบังคับ (Compulsory Saving) ของแรงงานในระบบ เช่น เงินประกันสังคม (ม.33), กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ, กองทุนสงเคราะห์ครูเอกชน หรือ การออมที่จำเป็นต้องจ่ายทุกเดือน
- เงินออมทางเลือก เป็นการออมเงินจากความสมัครใจ (Voluntary Saving) เพื่อแรงงานนอกระบบและผู้ประกอบอาชีพอิสระ เช่น ประกันสังคม ม.40, กองทุนการออมแห่งชาติ, กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เพื่อให้ได้รับบำเหน็จบำนาญหลังการเกษียณ
- เงินออมเพิ่มพูน เป็นการออมเงินที่ตั้งใจเก็บสะสมเพื่อมูลค่าที่เพิ่มพูน เช่น เงินฝากประจำ ผลตอบแทนจากการลงทุน ประกันชีวิตเพื่อสะสมทรัพย์
การเริ่มต้นเก็บออมเพื่อให้มีเงินใช้หลังเกษียณจึงต้องให้ความสำคัญกับเงินออมในรูปแบบที่ช่วยเพิ่มพูนผลตอบแทนที่งอกเงยและสร้างกำไร โดยการศึกษาและเปรียบเทียบผลิตภัณฑ์ทางการเงินแบบต่างๆ เพื่อให้ได้ตัวเลือกที่ตอบโจทย์ที่สุด รวมทั้งติดตามแนวคิดการออมเงินรูปแบบต่างๆ เพื่อศึกษาว่า ออมเงินแบบไหนให้กำไรเร็วกว่า เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ดังใจต้องการ
เงินฝากออมสิน ทางเลือกออมเงินอย่างยั่งยืน
การออมเงินอย่างยั่งยืนอยู่ที่วินัยในการออมเป็นสำคัญ เพราะต้องอาศัยทั้งความสม่ำเสมอและแน่วแน่เพื่อผลลัพธ์ที่หอมหวานในสุดท้ายปลายทาง การทำบัญชีเงินฝากกับออมสินจึงเป็นหนึ่งตัวเลือกที่ดีด้วยรูปแบบบัญชีที่หลากหลายและให้ผลตอบแทนแตกต่างกัน ดังนี้
เงินฝากประจำกับธนาคารออมสิน
เป็นวิธีออมเงินกับธนาคารออมสินโดยการทำบัญชีเงินฝากประจำเพื่อหวังผลตอบแทนในรูปแบบดอกเบี้ยการออม ยิ่งฝากประจำสม่ำเสมอเป็นระยะเวลานาน ยิ่งได้ดอกเบี้ยทวีคืนกำไรกลับมา ทั้งยังเป็นหลักประกันที่เพิ่มความมั่นคงให้กับชีวิตและเงินสำรองในยามฉุกเฉิน ที่เมื่อมีเหตุการณ์ไม่คาดคิดก็ยังมีฝูกนุ่มรองรับ เงินฝากประจำของธนาคารออมสินแบ่งออกเป็นหลายรูปแบบ ดังนี้
- เงินฝากประจำรายเดือนยกเว้นภาษี อัตราดอกเบี้ย 1.60% ต่อปี โดยต้องมียอดฝากเงินตั้งแต่ 1,000 บาทขึ้นไป และไม่เกิน 25,000 บาท ต่อเดือน ซึ่งถอนเงินก่อนครบกำหนดระยะเวลาฝากไม่ได้ จะต้องถอนปิดบัญชีเท่านั้น
- เงินฝากประจำ 3 เดือน ผู้ฝากทั่วไป อัตราดอกเบี้ย 0.525 % ต่อปี
- เงินฝากประจำ 6 เดือน ผู้ฝากทั่วไป อัตราดอกเบี้ย 0.65 % ต่อปี
- เงินฝากประจำ 12 เดือน ผู้ฝากทั่วไป อัตราดอกเบี้ย 0.80 % ต่อปี
- เงินฝากประจำ 24 เดือน ผู้ฝากทั่วไป อัตราดอกเบี้ย 1.20 % ต่อปี
- เงินฝากประจำ 36 เดือน ผู้ฝากทั่วไป อัตราดอกเบี้ย 1.20 % ต่อปี
การทำบัญชีเงินฝากประจำ เป็นการฝึกวินัยทางการออมอีกหนึ่งทาง เพราะเป็นการบังคับตัวเองให้ฝากเงินตามจำนวนและเวลาที่ธนาคารกำหนด ทั้งหมดนี้เพื่อสร้างหลักทรัพย์สำรองให้กับก้าวย่างในอนาคตและเดินทางไปถึงวันเกษียณได้อย่างมั่นคง
ที่มาข้อมูล ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน (ศคง.) , ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย