ภาวะหมดไฟ ภาวะทางใจที่ข้องเกี่ยวกับความเครียดจากการทำงาน พาลทำให้มนุษย์เงินเดือนทั้งหลายนั้นทั้งเหนื่อยล้า รู้สึกสิ้นหวังไร้ทางออก หลายคนอันเริ่มคุ้นหูกับคำที่ว่ามาตั้งแต่ก่อนโควิด หรือหลายคนก็รู้สึกว่าภาวะนี้อาจกำลังเกิดขึ้นกับตัวเอง ทางออกของภาวะหมดไฟคืออะไร และการเดินทางท่องเที่ยวจะช่วยเยียวยาหัวใจคนทำงานได้อย่างไร
ภาวะหมดไฟมีจริงหรือไม่ burnout syndrome คืออะไรกันแน่
ปฏิเสธไม่ได้ว่ามนุษย์วัยทำงานทุกคนย่อมต้องเคยพานพบกับความเครียดที่สั่งสมเพิ่มมากขึ้นในแต่ละวัน หนำซ้ำหลายคนอาจกำลังอยู่ในสถานการณ์ที่งานกับชีวิตส่วนตัวแทบจะเป็นเรื่องเดียวกัน ภาวะหมดไฟเป็นภาวะที่เกิดพบเจอกับความเครียดมหาศาลติดต่อกันเป็นเวลานานๆ จนคนเรารู้สึกเต็มกลั้นเกินกว่าจะสามารถรับมือได้ดังเดิม ท้ายที่สุดก็จะหมดสิ้นแรงกระตุ้นและความสนใจที่ทำสิ่งต่างๆ ซึ่งส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงานที่ลดลง
สัญญาณเตือนสภาวะหมดไฟ ที่คนทำงานหนักต้องหมั่นถามหัวใจตัวเอง
สัญญาณทางกายว่ากำลัง Burnout
- รู้สึกเหนื่อยล้าและแห้งเหี่ยวตลอดเวลา
- ป่วยง่ายกว่าปกติเพราะภูมิคุ้มกันตกลง
- ปวดหัวหรือปวดตามกล้ามเนื้อบ่อยครั้ง
- มีนิสัยการกินหรือการนอนหลับที่แตกต่างเปลี่ยนไปจากเดิม
สัญญาณทางอารมณ์ว่ากำลัง Burnout
- รู้สึกแต่ความผิดหวัง ตั้งคำถามกับตัวเอง
- รู้สึกพ่ายแพ้ สิ้นหวัง ไร้ทางออก
- รู้สึกโดดเดี่ยวและแปลกแยกจากสังคม
- หมดแรงกระตุ้น มองเห็นแต่เรื่องลบๆ
- แม้ประสบความสำเร็จอะไรก็ไม่รู้สึกพึงพอใจ ไม่ยินดีกับเรื่องดีใดๆ
นอกจากนี้แล้ว การอยู่ในภาวะหมดไฟ อาจทำให้แต่ละมีพฤติกรรมที่ส่งผลเสียต่อตัวเองหรือชีวิตประจำวัน เช่น ละเลยหน้าที่ความรับผิดชอบของตัวเอง แยกตัวออกจากคนอื่น ผลัดวันประกันพรุ่ง ใช้เวลานานในการทำงานต่างๆ ให้เสร็จ ความอดทนต่ำลง ฉุนเฉียวง่ายกับเพื่อนร่วมงานหรือลูกค้า หรือระบายความไม่พอใจใส่คนอื่น ใช้อาหาร สิ่งเสพติด หรือแอลกอฮอล์เพื่อให้ตัวเองรู้สึกดีขึ้น แน่นอนว่าสัญญาณเหล่านี้ เป็นการส่งเสียงเตือนให้มนุษย์ผู้โหมงานหนักหาเวลาหยุดพักรักษาใจ และเป็นเรื่องสำคัญที่เมื่อเผชิญกับความรู้สึกแง่ลบที่ถาโถมควรเข้ารับการปรึกษาโดยจิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
การเที่ยวไม่เท่ากับหนีปัญหา แต่เป็นการเยียวยาหัวใจ
ไม่ต้องรอจนหัวใจหมดพลังก็ให้รางวัลตัวเองด้วยการไปเที่ยวสักครั้ง เพราะจากการวิจัยพบว่าคนที่ท่องเที่ยวเป็นประจำ (ระยะทางอย่างน้อย 120 กิโลเมตรจากบ้าน) มีความสุขกว่าคนที่ไม่ค่อยได้ออกไปไหนถึง 7% อ้างอิง ดังนั้นแล้วจะรอช้าอยู่ไย เตรียมใช้วันหยุดที่มีปักโลเคชั่นไปเที่ยวที่สวยๆ สักที่ให้ชุ่มฉ่ำหัวใจด้วยข้อดีของการเดินทางที่ส่งผลบวกต่อสุขภาพจิตอย่างมากมาย ได้แก่
รีเซ็ตตัวเองจากความเคร่งเครียด
เปลี่ยนภาพออฟฟิศและสารพัดกองงานที่ต้องเห็นอยู่ทุกวี่วันให้เป็นวิวเที่ยวสวยๆ บ้างเป็นครั้งคราวก็ไม่เสียหาย เพราะร่างกายและจิตใจที่ต้องเผชิญกับความเคร่งเครียดจากการทำงานย่อมมีวันที่เหนื่อยล้าและเมื่อสะสมเป็นระยะเวลานานสามารถบั่นทอนจนเสียสุขภาพจิตได้ การออกไปเปิดหูเปิดตาและบอกลาภาระงานประจำวันชั่วคราว ยังส่งผลให้เรากลับมาทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย
สร้างความสงบทางจิตใจ
การทำงานทำให้คนเราอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องรับมือและแก้ปัญหาสิ่งต่างๆ อยู่ตลอดเวลา เรื่องส่วนใหญ่ในของคนทำงานจึงวนเวียนอยู่กับปัญหาที่เพิ่มเข้ามาอย่างต่อเนื่อง นานวันเข้าเราก็เริ่มถอยห่างจากความสงบในจิตใจตัวเอง การลางานและไปเที่ยวที่ไหนสักทีจึงเป็นโอกาสดีให้เราได้กลับมาใส่ใจกับสุขภาพกายและสุขภาพจิตของตัวเอง สร้างความสงบทางจิตใจและปรับโฟกัสกลับมาอยู่ที่ตัวเองอีกครั้ง
เติมพลังสมองและปลุกความคิดสร้างสรรค์
เมื่อต้องจดจ่อกับปัญหาและคอยรับมือกับความเครียดที่เข้ามาตลอดเวลา ไม่ใช่เรื่องแปลกหากสมองคนเราจะรู้สึกล้าจนทำงานได้ไม่เต็มศักยภาพเช่นแต่ก่อน ดังนั้นแล้วการออกเดินทางให้อยู่ห่างจากสภาพแวดล้อมการทำงานคือหนึ่งหนทางผ่อนคลายสมอง เมื่อได้พักผ่อนจน
เชื่อมความสัมพันธ์ให้เหนียวแน่น
ปฏิเสธไม่ได้ว่าเมื่อต้องโฟกัสกับการทำงานตั้งแต่เช้ายันเย็นทำให้ความสัมพันธ์กับผู้คนร่วมตัวถอยห่างกว่าเดิม ทั้งเจอหน้ากันน้อยลงและมีเวลาให้พูดคุยกันน้อย การแพลนทริปเที่ยวด้วยกันนานๆ ครั้งจึงเป็นสิ่งที่ช่วยเชื่อมสัมพันธ์ให้กลับมาเหนียวแน่นเพราะได้แบ่งปันช่วงเวลาดีๆ ของการออกเดินทาง มีบทสนทนาและมุมมองใหม่ให้แชร์ต่อกัน
แน่นอนว่าในฐานะมนุษย์ที่ไม่ใช่เครื่องจักร การมีสุขภาพจิตที่ดีจึงสัมพันธ์อย่างมากกับประสิทธิภาพการทำงาน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น การไปเที่ยวหลายๆ วันก็อาจทำให้ใจหดหู่เมื่อต้องกลับมาทำงานได้ ดังนั้นแล้วต้องไม่ลืมทำความเข้าใจ Post Vacation Depression ทำไมใจหมองหม่นหลังเที่ยว เพื่อให้ทริปเดินทางครั้งนี้สุขสันต์ทั้งขาไปและขากลับ