เมื่อต้องเผชิญกับภาวะข้าวยากหมากแพงกันอย่างถ้วนหน้า ไม่ว่าจะราคาข้าวของที่ทยอยตัวเพิ่มสูงขึ้น ในขณะที่ค่าจ้างของแรงงานไม่ได้ปรับขึ้นตามกัน ส่งผลให้กำลังในการจับจ่ายซื้อของน้อยลงเพราะเงินเท่าเดิมกำลังซื้อของได้น้อยลงในเศรษฐกิจสภาวะที่ไม่มั่นคงอย่างนี้นี่เอง ทำให้มนุษย์ทำงานที่มีค่าใช้จ่ายรายเดือนเผชิญสถานการณ์ทางการเงินที่ยากลำบากไปตามๆ กัน สิ่งสำคัญคือการมีแนวทางรับมือปัญหาและควบคุมค่าใช้จ่ายให้ยังมีทางรอดต่อไปได้
1.ตั้งงบประมาณ
การตั้งงบประมาณคือสิ่งแรกที่ต้องคำนึงถึงในภาวะเงินเฟ้อ เพื่อช่วยให้เราสามารถเห็นภาพรวมทั้งรายรับและรายจ่ายได้กว้างพอที่จะจัดลำดับความสำคัญได้อย่างถูกต้อง เห็นทุกจำนวนเม็ดเงินที่เข้าออกและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมทางการเงินให้ดีขึ้น การตั้งงบประมาณทำได้ดังนี้
- คำนวณรายรับทั้งหมดว่ามีรายรับเข้ามาจากทางไหนบ้าง
- แจกแจงรายจ่าย เพราะทุกคนมีรายจ่ายแตกต่างกันออกไป การมีลิสต์รายการให้ตัวเองว่าค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือนถูกใช้ไปกับอะไรบ้างจะทำให้เราสามารถมองเห็นภาพรวมเพื่อจัดประเภทรายจ่าย ในแต่ละเดือน ตั้งแต่ ค่าที่อยู่อาศัย ค่าเดินทาง ค่าอาหาร เรื่องสุขภาพ รายการหนี้
- จัดลำดับความสำคัญของรายจ่าย เพื่อให้แน่ใจได้ว่าเราจะจัดการภาระค่าใช้จ่ายได้ด้วยเงินที่มีอย่างเพียงพอ ซึ่งแตกต่างไปตามความจำเป็นของแต่ละคน เช่น
- จัดลำดับจากรายจ่ายจำเป็น – รายจ่ายไม่จำเป็น
- จัดลำดับตามรายจ่ายบังคับ – รายจ่ายประปราย
- ภาระหนี้สิน โดยเฉพาะหนี้สินที่มีดอกเบี้ยสูงควรมีความสำคัญเป็นอันดับหนึ่ง
- ค่าใช้จ่ายในอนาคต หรือการต้องสำรองเงินจำนวนหนึ่งเพื่อเป้าหมายที่ตั้งใจไว้ เช่น ค่าแต่งงาน ค่าบ้าน ค่ารถ
- ค่าใช้จ่ายฉุกเฉิน ไม่ว่าจะค่ารักษาพยาบาลหรือค่าซ่อมรถ ก็เป็นส่วนหนึ่งที่มองข้ามไม่ได้เช่นกัน
2.หาช่องทางประหยัดเงิน
การจำกัดค่าใช้จ่ายให้ไม่มากเกินตัวคือแนวทางสำคัญที่จะทำให้การประหยัดเงินได้ผลมากขึ้น ด้วยสภาพคล่องทางการเงินที่แต่ละคนมีแตกต่างกัน การรัดเข็มขัดเพื่อประหยัดรายจ่ายจึงไม่มีสูตรตายตัวโดยเฉพาะในช่วงของเงินเฟ้อที่เป็นขาลงทางเศรษฐกิจ การออมเงินที่เป็นไปได้มีหลายช่องทาง เช่น ลดทอนรายจ่ายไม่จำเป็นหรือรายจ่ายที่ต่อให้ไม่ต้องซื้อก็มีชีวิตอยู่ได้ อย่างการกินข้าวนอกบ้านบ่อยครั้ง การ Subscription บริการพรีเมียมต่างๆ การช้อปปิ้งสินค้าแบรนด์เนมราคาแพง หรือเลือกซื้อของใช้ชิ้นใหญ่แม้ยังไม่จำเป็นต้องใช้ นอกจากนี้แล้วการจับจ่ายอย่างประหยัดยังหมายถึงการช้อปปิ้งอย่างฉลาด โดยการซื้อของเป็นแพ็คหรือแบบรีฟิลเพื่อความคุ้มค่า ขยันใช้คูปองหรือส่วนลดเพื่อให้จ่ายน้อยลง เป็นต้น
3.ลงทุนให้เป็น
การเริ่มต้นลงทุนเป็นการสร้างโอกาสทางการเงินที่แม้ไม่ได้อยู่ในภาวะเงินเฟ้อก็สามารถกลายเป็นแหล่งรายได้อีกตัวเลือกหนึ่ง การลงทุนเพื่อสร้างความมั่นคงทางการเงินเริ่มต้นตั้งแต่การตั้งเป้าหมายทั้งระยะสั้นและระยะยาว เช่นลงทุนเพื่อวางแผนเกษียณหรือเพื่อการออมเงิน เป็นเรื่องสำคัญที่ก่อนการลงทุนเราจะต้องมีเป้าหมายเพื่อให้การเก็งกำไรเป็นไปอย่างบรรลุวัตถุประสงค์ สามารถจัดสรรและกระจายความเสี่ยงในแต่ละกองทุนได้อย่างเหมาะสมเพราะการลงทุนมักมีค่าธรรมเนียมที่ต้องเสีย สิ่งสำคัญคือต้องไม่ลืมติดตามข่าวสารและกระแสตลาดเพื่อให้สามารถตัดสินใจได้อย่างแม่นยำ เช่น ควรลงทุนในธุรกิจใด ควรลงทุนประเภทไหน โดยไม่รีบเร่งลงทุนตามกระแสความนิยมแต่ต้องเท่าทันกลไกและความเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจเพื่อใช้วิเคราะห์การลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด
4.ใช้จ่ายอย่างรอบคอบ
เมื่อข้าวของพากันขึ้นราคา สิ่งที่คนธรรมดาอย่างเราๆ จะหาทางรับมือกับภาวะทางเศรษฐกิจได้ก็ด้วยการใช้จ่ายอย่างรอบคอบ แม้ว่าอาจจะลดทอนความสะดวกสบายที่เคยมีเพราะไม่สามารถหยิบจ่ายโดยไม่คิดอะไรได้เหมือนอย่างเคย พฤติกรรมการจับจ่ายสินค้าอย่างประหยัดทำได้ในหลายรูปแบบ เช่น
- เปรียบเทียบราคาก่อนซื้อ
- ใช้คูปองและส่วนลดราคา
- ซื้อสินค้ายกโหลหรือซื้อเป็นแพ็คใหญ่เพื่อให้ได้ราคาต่อชิ้นที่ถูกลง
- ไม่ยึดติดกับแบรนด์ เลือกซื้อสินค้าที่เหมือนกันแต่ราคาถูกกว่า
- ซื้อตามทางเลือกทดแทน เช่น เปลี่ยนวัตถุดิบทำอาหารจากเนื้อวัวเป็นเนื้อไก่
5.มองหางานที่เงินเดือนสูงขึ้นหรือหารายได้เสริม
ท้ายที่สุดเมื่อต้องยอมรับว่าแหล่งรายได้เดิมอาจไม่เพียงพอต่อการใช้จ่ายในชีวิตประจำวันอีกต่อไป การมองหาโอกาสทางหน้าที่การงานที่ให้ผลตอบแทนอย่างเหมาะสมกับทักษะที่มีอาจเป็นทางออกที่ดีกว่า เริ่มต้นไขว่คว้าความก้าวหน้าตั้งแต่การประเมินความสามารถที่ตัวเองมีเพื่อให้สามารถเลือกตำแหน่งงานที่รองรับได้ จากนั้นจึงศึกษาเรื่องเส้นทางอาชีพเพื่อเข้าใจในคุณสมบัติของตำแหน่งที่มุ่งหวังและฐานเงินเดือน ทั้งนี้สิ่งที่ต้องทำเช่นกันคือการอัปเดต Resume ให้เป็นปัจจุบัน การลงเรียนคอร์สเพื่อเพิ่มเติมทักษะก็เป็นอีกหนทางที่จำเพิ่มเงินตอบแทนหรือสามารถหารายได้เสริมจากทักษะที่สร้างขึ้นใหม่นี้เช่นกัน