การบริหารและพัฒนา

ทรัพยากรบุคคล

เพื่อความยั่งยืน

banner banner
หน้าหลัก > อื่นๆ > การบริหารและพัฒนาทรัพยากรบุคคลเพื่อความยั่งยืน

การบริหารและพัฒนาทรัพยากรบุคคลเพื่อความยั่งยืน

 

ทิศทางการบริหารและพัฒนาทรัพยากรบุคคลเพื่อความยั่งยืน

จากวิสัยทัศน์สู่การเป็น “social bank” หรือธนาคารเพื่อสังคม  โดยนำหลักการด้านความยั่งยืนมาประยุกต์ใช้ให้เข้ากับบทบาทของธนาคารออมสิน บุคลากรของธนาคารจึงถือเป็นหนึ่งในผู้มีส่วนได้เสียที่มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนธนาคารให้ไปสู่เป้าหมาย ธนาคารจึงมีความมุ่งมั่นในการส่งเสริมคนดีและคนเก่งให้สามารถพัฒนาศักยภาพได้สูงสุดพร้อมต่อภารกิจในการเป็นธนาคารเพื่อสังคม รองรับการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจและเทคโนโลยี  และการแข่งขันทางธุรกิจ มีความก้าวหน้าในสายงานอาชีพและเสริมสร้างความผูกพันต่อองค์กร รวมทั้งดูแลบุคลากรอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรมทั้งในเรื่องการบริหาร การพัฒนา และการจ่ายค่าตอบแทน สวัสดิการ และสิทธิประโยชน์ เพื่อให้สามารถร่วมกันขับเคลื่อนองค์กรไปสู่เป้าหมายไปสู่ความสำเร็จและเติบโตอย่างยั่งยืน

 

การสรรหาบุคลากร

ธนาคารออมสิน เปิดโอกาสให้ผู้ที่มีศักยภาพ และต้องการความก้าวหน้ามาร่วมเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาและขับเคลื่อนธนาคารให้เติบโตอย่างมั่นคง ยั่งยืน โดยธนาคารมีนโยบายการสรรหาบุคลากรที่ส่งเสริมการจ้างงานในท้องถิ่นตามพื้นที่ที่ธนาคารเปิดดำเนินการ โดยไม่เลือกปฏิบัติใน ศาสนา เพศ ชนชั้น ภูมิลำเนา การศึกษา สาขาวิชา และต้องเป็นผู้มีคุณสมบัติตามพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานของพนักงานรัฐวิสาหกิจ ธนาคารมีกระบวนการสรรหาคัดเลือกที่โปร่งใส  ตลอดจนไม่จำกัดต่อบุคคลพิการ ที่ธนาคารต้องปฏิบัติตามมาตรา 33 มาตรา 34 และมาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ.2505

ธนาคารเล็งเห็นความสำคัญของความก้าวหน้าในสายอาชีพของบุคลากร มีการกำหนดเส้นทางความก้าวหน้าในอาชีพ (Career Path) เพื่อให้พนักงานได้ใช้ประโยชน์เพื่อการพัฒนาตนเองและแนวทางในการเติบโตในสายอาชีพ  มีระเบียบ คำสั่งธนาคารที่กำหนดหลักเกณฑ์การแต่งตั้ง โยกย้าย และเลื่อนตำแหน่งที่เป็นธรรม โดยคำนึงถึงความรู้ ความสามารถ และผลการปฏิบัติงานของบุคลากรเป็นปัจจัยสำคัญ บุคลากรของธนาคารมีโอกาสเติบโตเป็นผู้บริหารระดับต้น ระดับกลาง ระดับสูง และกลุ่มอำนวยการได้อย่างเท่าเทียม

#ปรับใหม่นโยบาย Hr เพื่อความยั่งยืน แก้ตามพี่โดมพี่นุข 2

 

การพัฒนาศักยภาพบุคลากร

ธนาคารมุ่งพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้และทักษะที่จำเป็นสอดคล้องตามทิศทางการดำเนินงานของธนาคาร และตอบโจทย์การดำเนินธุรกิจของธนาคาร ทิศทางการพัฒนาบุคลากรจะพิจารณาจากแผนกลยุทธ์ทางธุรกิจของธนาคารเป็นสำคัญเพื่อเพิ่มขีดความสามารถให้รองรับภารกิจการเป็นธนาคารเพื่อสังคม เทคโนโลยีดิจิทัล และการแข่งขันให้แก่ธนาคารทั้งในปัจจุบันและอนาคต ผ่านการบริหารสายอาชีพและส่งเสริมความรู้ควบคู่กัน โดยการบริหารสายอาชีพนับเป็นกลไกในการพัฒนาความก้าวหน้าของตำแหน่งงาน ได้แก่ สมรรถนะ องค์ความรู้ ประสบการณ์ และคุณลักษณะ ส่งผลให้พนักงานมีทิศทางการดำเนินงานที่ชัดเจนและเกิดแรงจูงใจที่จะพัฒนาตนเอง ซึ่งกำหนดให้มีการวางแผนการพัฒนารายบุคคล โดยมีรูปแบบการพัฒนาตามหลัก 70 : 20 : 10   คือ  ร้อยละ 70 เป็นกระบวนการลงมือทำ เพื่อให้เกิดประสบการณ์ทำงานจริง เห็นผลลัพธ์ของการพัฒนาอย่างชัดเจน และช่วยย้ำให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน เช่น On the job training (OJT) หรือ การมอบหมายโครงการให้ปฏิบัติ  ร้อยละ 20 เป็นกระบวนการพี่เลี้ยงหรือโค้ช เพื่อการแนะนำแนวทางในการนำความรู้ที่ได้จากการเรียนรู้ไปปฏิบัติจริง และช่วยติดตามดูแลความคืบหน้าของโครงการที่มอบหมาย หรือผลการ OJT  และร้อยละ 10 เป็นการเรียนรู้ในห้องเรียนเพื่อเพิ่มพูนความรู้ ทักษะ และทัศนคติหรือพฤติกรรมที่ควรมีในการทำงาน นอกจากนี้  ยังมีการพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ในผลิตภัณฑ์และบริการต่าง ๆ ทั้งก่อนและหลังที่จะเปิดให้บริการแก่ลูกค้า  ตลอดจนหลักสูตรต่าง ๆ ที่เป็นไปตามข้อกำหนดของหน่วยงานที่ควบคุม กำกับ ดูแลธนาคาร เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย  เป็นต้น

 

การพัฒนาผลการดำเนินงานในภาพรวม

ธนาคารมีระบบการบริหารผลการปฏิบัติงานของพนักงาน โดยใช้ปัจจัยในการประเมินผล ประกอบด้วยตัวชี้วัดผลงานหลัก (Key Performance Indicator : KPI) และสมรรถนะที่ส่งเสริมต่อการปฏิบัติงาน (Competency) โดยมีการถ่ายทอดตัวชี้วัดระดับองค์กร ลงสู่ตัวชี้วัดระดับหน่วยงาน และถ่ายทอดลงสู่ตัวชี้วัดของบุคลากรรายบุคคล  โดยดำเนินการผ่านระบบงานสารสนเทศเพื่อการบริหารทรัพยากรบุคคลเป็นประจำทุกปี โดยผู้บริหารและพนักงานทุกคนจะได้รับการประเมินผลตามระเบียบคำสั่งของธนาคารและกำหนดเวลาตามที่ธนาคารกำหนด

ธนาคารกำหนดให้มีการประเมินสมรรถนะของพนักงานซึ่งประกอบด้วย Core Competency, Leadership Competency และ Functional Competency เป็นประจำทุกปี  เพื่อประเมินช่องว่าง ของความสามารถ(Competency Gap) ที่สนับสนุนต่อการปฏิบัติงาน และนำผลการประเมินดังกล่าวไปจัดทำแผนพัฒนารายบุคคล (Individual Development Plan : IDP) เพื่อปิดช่องว่างของความสามารถ ทั้งนี้ แผนพัฒนารายบุคคลจะดำเนินการในรูปแบบ 70 : 20 : 10

 

การรักษาบุคลากรที่มีศักยภาพสูง                       

ธนาคารมีการประเมินความพึงพอใจและความผูกพันของบุคลากรต่อธนาคารออมสิน (Engagement Survey) เป็นประจำทุกปี โดยผลที่ได้จากการประเมินดังกล่าว ธนาคารได้นำมาจัดทำแผนเสริมสร้างความพึงพอใจและความผูกพัน ซึ่งส่งผลให้คะแนนการประเมินความพึงพอใจและความผูกพันมีอยู่ในระดับ “ดีมาก” ทุกปี

ธนาคารส่งเสริมการจ่ายค่าตอบแทนอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม มีโครงสร้างเงินเดือนเดียว (Single Salary Structure) ที่มีมาตรฐานเดียวกันระหว่างบุคลากรชายและหญิง มีอัตราส่วนเงินเดือนและสวัสดิการระหว่างพนักงานชายต่อพนักงานหญิงเท่ากับ 0.96 : 1 โดยกำหนดตามระดับค่างาน (Job Level) ระบบแรงจูงใจจากผลการปฏิบัติงานรายบุคคล โดยพิจารณาให้ค่าตอบแทนตามผลการปฏิบัติงานผ่านการขึ้นเงินเดือนประจำปี ที่วัดผลการปฏิบัติงานด้วย KPIs และ Competency ซึ่งมุ่งเน้นความสามารถในการส่งมอบประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้าทุกกลุ่ม การสร้างเครือข่ายความร่วมมือ การพร้อมรับการเปลี่ยนแปลง การคิดริเริ่มและสร้างสรรค์สิ่งใหม่

ธนาคารมีการกำหนดสวัสดิการและสิทธิประโยชน์ให้กับบุคลากรของธนาคาร
ที่เทียบเคียงได้กับสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐและหน่วยงานรัฐวิสาหกิจต่าง ๆ ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานขั้นต่ำของสภาพการจ้างในรัฐวิสาหกิจกำหนด และตามมติคณะรัฐมนตรี เช่น ค่าล่วงเวลาและค่าทำงานในวันหยุด สิทธิการลา เงินชดเชยจากการทำงาน เงินค่ารักษาพยาบาล เงินค่าเช่าบ้าน
เงินช่วยเหลือบุตร เป็นต้น นอกจากนี้ธนาคารยังให้สวัสดิการและความช่วยเหลือต่าง ๆ กับพนักงาน ไม่ว่าจะเป็นเงินกู้เคหะสงเคราะห์พนักงานและเงินกู้ส่งเสริมสวัสดิภาพพนักงานในอัตราดอกเบี้ยพิเศษ
เงินช่วยเหลือกรณีประสบวินาศภัย การให้ทุนการศึกษา เป็นต้น  นอกจากนี้ ธนาคารยังให้เงินผลประโยชน์เกื้อกูลจากการทำงานต่าง ๆ เช่น ค่าโทรศัพท์ ค่ารับรอง รถยนต์ประจำตำแหน่ง เงินค่าน้ำมันรถ  เป็นต้น

ธนาคารมีการจ่ายเงินโบนัสให้กับพนักงาน ซึ่งอัตราการจ่ายเป็นไปตามกรอบ
การจ่ายโบนัสตามผลการดำเนินงานที่คณะรัฐมนตรีกำหนด โดยธนาคารออมสิน ถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มรัฐวิสาหกิจกลุ่มที่ 2  ที่สามารถจัดสรรวงเงินการจ่ายโบนัสสูงสุดร้อยละ 11 จากกำไรสุทธิ และจ่ายได้สูงสุดไม่เกิน 8 เท่าของเงินเดือนพนักงาน (อ้างอิงจาก : http://www.sepo.go.th/content/217)

 

สิทธิแรงงาน

ทรัพยากรบุคคล นับเป็นทรัพยากรสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนการดำเนินงานของธนาคารให้ประสบความสำเร็จ ธนาคารจึงมุ่งเน้นการบริหารทรัพยากรบุคคลอย่างเป็นระบบ ดูแลบุคลากรทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน และส่งเสริมให้พนักงานทุกคนพัฒนาความรู้ความสามารถของตนเองผ่านระบบพัฒนาขีดความสามารถของพนักงาน (Competency Management System) และระบบการบริหารผลการปฏิบัติงาน (Performance Management System – PMS) รวมถึงส่งเสริมให้พนักงานสามารถรักษาสมดุลการใช้ชีวิตและการทำงาน นอกจากนี้ ตามแนวทางการเสริมสร้างความผูกพันของพนักงานต่อองค์กร ยังมุ่งเน้นการสื่อสารแบบสองทางเพื่อรับฟังและรวบรวมความคิดเห็นของพนักงานมาใช้ในการปรับปรุงระบบงาน สภาพแวดล้อมในการทำงาน และสวัสดิการสำหรับพนักงานอย่างต่อเนื่อง

ธนาคารดำเนินงานโดยคำนึงถึงสิทธิมนุษยชน และ เคารพในคำประกาศของ ILOว่าด้วยหลักการและสิทธิขั้นพื้นฐานในที่ทำงาน (ILO Declaration on Fundamental Principles and Rights at Work) โดยปฏิบัติต่อพนักงานทุกคนอย่างเสมอภาค ไม่แบ่งแยก เชื้อชาติ เพศ อายุ ศาสนา ความพิการ หรือสถานะอื่นใดที่ไม่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงาน รวมถึงจัดให้มีสภาพการจ้างงานที่ยุติธรรม มีโอกาสก้าวหน้าอย่างเป็นธรรม และดูแลไม่ให้เกิดการคุกคาม ข่มขู่ หรือถูกล่วงละเมิดสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล ระหว่างผู้บริหาร พนักงาน หรือผู้ที่เกี่ยวข้อง   ไม่ยอมรับความรุนแรงทางเพศทุกรูปแบบ (Zero Torrance Policy) ในที่ทำงานซึ่งรวมการคุกคามทางวาจา ทางร่างกายและทางเพศ

Skip to content