Ozone1040

โครงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยการลดและเลิกใช้สารทำลายชั้นบรรยากาศโอโซน

ธนาคารออมสินได้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยการลดและเลิกใช้สารทำลายชั้นบรรยากาศโอโซนในประเทศไทย ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2546 โดยธนาคารออมสินทำหน้าที่เป็นผู้บริหารเงินช่วยเหลือในโครงการนี้ เพื่อให้ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้อง ลดและเลิกใช้สารทำลายชั้นบรรยากาศโอโซน ซึ่งก่อให้เกิดภาวะโลกร้อนอีกทางหนึ่งด้วย และได้ตั้งหน่วยโครงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เพื่อทำหน้าที่บริหารเงินช่วยเหลือแบบให้เปล่าจากกองทุนอนุรักษ์ชั้นโอโซน (Ozone Projects Trust Fund : OTF) ตามพิธีสารมอนทรีออลว่าด้วยการลดและเลิกใช้สารทำลายชั้นบรรยากาศโอโซน รวมไปถึงการมีส่วนร่วมรณรงค์ และสร้างจิตสำนึกให้ประชาชนได้ตระหนักถึงความสำคัญของชั้นบรรยากาศโอโซน

หลังจากที่ธนาคารออมสินได้ดำเนินการในภาคสารคลอโรฟลูออโรคาร์บอน : ซีเอฟซี (CFCs) ซึ่งมีทั้งสารที่ใช้ทำความเย็นในระบบปรับอากาศรถยนต์ ตู้เย็น ตู้แช่ สารชะล้างชิ้นส่วนโลหะ แผงวงจรอิเลคทรอนิคส์ และสารขับดันที่ใช้ในผลิตภัณฑ์สเปรย์ จนเสร็จสิ้นแล้ว ธนาคารออมสินได้รับมอบหมายจากกระทรวงการคลังให้ร่วมกับกรมวิชาการเกษตร เพื่อสนับสนุนเงินช่วยเหลือให้ผู้ประกอบการที่ใช้สารเมทิลโบรไมด์ ซึ่งเป็นสารอีกประเภทที่ทำลายชั้นบรรยากาศโอโซนให้เปลี่ยนมาใช้สารฟอสฟีนในการรมยาผลิตผลทางการเกษตร ซึ่งสารฟอสฟีนจะเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และมีค่าการทำลายชั้นบรรยากาศโอโซนน้อยกว่าสารเมทิลโบรไมด์ ทั้งนี้โครงการฯ ข้างต้นได้สิ้นสุดในวันที่ 31 ธันวาคม 2556

และต่อมา กระทรวงการคลังมอบหมายให้ธนาคารออมสินให้เป็นผู้บริหารเงินช่วยเหลือ (Financial Agent) ของโครงการลดและเลิกใช้สารไฮโดรคลอโรฟลูออโรคาร์บอน ระยะที่ 1 วงเงินบริหารจัดการรวม 16.85 ล้านดอลลาร์สหรัฐอเมริกา ระหว่างปี 2556-2561 ระยะเวลา 6 ปี ตามข้อตกลงระหว่างธนาคารโลกและรัฐบาลไทย เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศ และอุตสาหกรรมการผลิตโฟมในการปรับเปลี่ยนอุปกรณ์และยกเลิกการใช้สาร HCFCs ที่ทำลายชั้นบรรยากาศโอโซนในกระบวนการผลิต โดยเปลี่ยนไปใช้สารทดแทนที่ไม่ทำลายชั้นบรรยากาศโอโซน และไม่มีผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศโลก โดยดำเนินโครงการเสร็จสิ้นภายในเวลากำหนดเรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2561

ในปี 2562 ธนาคารโลกมีความประสงค์ขอให้ธนาคารออมสินบริหารเงินช่วยเหลือโครงการลดและเลิกใช้สารไฮโดรคลอโรฟลูออโรคาร์บอน ระยะที่ 2 ต่อไป เพื่อให้การดำเนินงานโครงการมีความต่อเนื่อง โดยธนาคารโลกขอให้สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะทำหนังสือถึงธนาคารออมสิน เพื่อขอความร่วมมือในการดำเนินการอย่างเป็นทางการ  ซึ่งในการประชุมคณะกรรมการธนาคารออมสิน ครั้งที่ 6/2562 เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2562 ได้มีมติอนุมัติให้ธนาคารออมสินเข้าร่วมเป็นหน่วยงานบริหารเงินช่วยเหลือโครงการลดและเลิกใช้สารไฮโดรคลอโรฟลูออโรคาร์บอน ระยะที่ 2

สรุปข้อมูลที่สำคัญของโครงการลดและเลิกใช้สารไฮโดรคลอโรฟลูออโรคาร์บอน ระยะที่ 2 เป็นดังนี้

โครงการระยะที่ 2 เป็นการให้เงินช่วยเหลือในการเปลี่ยนอุปกรณ์และสารเคมีที่ใช้ในอุตสาหกรรมสเปรย์โฟม และตู้เย็นตู้แช่เชิงพาณิชย์ วงเงินบริหารจัดการรวม 5.08 ล้านดอลลาร์สหรัฐอเมริกา (รวมส่วนของกรมโรงงานอุตสาหกรรมและธนาคารออมสิน) ระยะเวลาในการดำเนินโครงการระยะที่ 2 เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562 – 2566 (5 ปี) โดยมีวงเงินช่วยเหลือให้ผู้ประกอบการเป็นเงิน 1.92 ล้านดอลลาร์สหรัฐอเมริกา ประมาณ 57.48 ล้านบาท ในโครงการฯ นี้ผู้ประกอบการจะได้รับการสนับสนุนความช่วยเหลือทางด้านการเงินและความช่วยเหลือทางด้านเทคนิคเพื่อให้ปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตไปใช้เทคโนโลยีทางเลือกที่ไม่ทำลายชั้นบรรยากาศโอโซน

ภาคอุตสาหกรรมที่จะได้รับเงินช่วยเหลือผ่านธนาคารโลก ประกอบด้วย

  1. อุตสาหกรรมตู้เย็น ตู้แช่เชิงพาณิชย์ (Commercial Refrigeration) มีผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการ 1 ราย คือ บริษัท พัฒนาอินเตอร์คูล จำกัด วงเงินช่วยเหลือแบบให้เปล่า 183,514 ดอลลาร์สหรัฐอเมริกา โดยบริษัทฯ ได้ดำเนินการเปลี่ยนเทคโนโลยีการผลิตจากสารทำความเย็น HFC-134a เป็น Propane (R-290) และได้จัดซื้อเครื่องมือ/อุปกรณ์ ออกแบบจุดชาร์จน้ำยา R-290 พร้อมทั้งติดตั้งระบบความปลอดภัยเสร็จสิ้นแล้ว ปัจจุบันธนาคารได้จัดทำรายงานเสร็จสิ้นโครงการย่อยและเบิกจ่ายเงินช่วยเหลือให้แก่บริษัทฯ จำนวน 183,514 ดอลลาร์สหรัฐอเมริกา ครบตามสัญญาความช่วยเหลือแบบให้เปล่าสำหรับโครงการย่อยเรียบร้อยแล้ว เมื่อเสร็จสิ้นโครงการ บริษัทฯ สามารถลดค่าศักยภาพในการทำให้เกิดภาวะโลกร้อน (GWP) ได้ทั้งสิ้น 7,444.58 tCO2e (ตันคาร์บอนไดออกไซด์)
  2. อุตสาหกรรมสเปรย์โฟม (Spray Foam) จะเป็นการเปลี่ยนสารเคมีในการผลิตสเปรย์โฟม จากสาร HCFC-141b ที่จะถูกยกเลิกการนำเข้าในปี 2566 เป็น HFO หรือ สูตรน้ำ โดยกรมโรงงานอุตสาหกรรมร่วมกับตัวกลางผู้ขายสารเคมี (System house) จะจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) เพื่อให้ความรู้ อบรมด้านความปลอดภัย และเชิญชวนผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมสเปรย์โฟมเข้าร่วมโครงการ จากการสำรวจของกรมโรงงานอุตสาหกรรม พบว่าภาคอุตสาหกรรมสเปรย์โฟมมีผู้ประกอบการรายเดี่ยวจำนวน 6 ราย และเป็นผู้ประกอบการรายย่อย จำนวน 40 ราย ปัจจุบันมีผู้ประกอบการที่สนใจเข้าร่วมโครงการแล้ว จำนวน 2 ราย

ผู้ประกอบการที่สนใจเข้าร่วมโครงการจะต้องส่งข้อเสนอโครงการย่อย (Proposal) และ แผนการจัดการเครื่องมือ/อุปกรณ์เดิม (Disposal Plan) รวมทั้งแผนจัดการสิ่งแวดล้อม (Environmental Management Plan : EMP)

ให้กรมโรงงานอุตสาหกรรมพิจารณาและตรวจสอบพร้อมทั้งยืนยันสิทธิ์การได้รับเงินช่วยเหลือ หลังจากนั้นส่งให้ธนาคารจัดทำรายงานประเมินโครงการย่อย (Appraisal Report) และจัดทำสัญญาตลอดจนเบิกจ่ายเงินช่วยเหลือ

ให้แก่ผู้ประกอบการตลอดระยะเวลาการดำเนินโครงการ

ดังนั้น นับได้ว่าโครงการนี้เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงการมีส่วนร่วมรณรงค์ และสร้างจิตสำนึกให้ประชาชนได้ตระหนักถึงความสำคัญของชั้นบรรยากาศโอโซน และช่วยลดภาวะโลกร้อนอีกทางหนึ่งด้วย  ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายธนาคารออมสินยุคใหม่มุ่งช่วยเหลือสังคมในบทบาท Social Bank

แชร์เนื้อหา :
Skip to content