2565 เป็นอีกปีที่ธนาคารออมสินเดินหน้าการขับเคลื่อนภารกิจ “ธนาคารเพื่อสังคม (Social Bank)” อย่างต่อเนื่องและเต็มกำลังเพื่อสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยให้ความสำคัญกับการลดความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย ธนาคารได้บูรณาการภารกิจเชิงสังคมในทุกกระบวนการสำคัญของธนาคาร (Social Mission Integration) เพื่อปลูกฝังการขับเคลื่อนภารกิจธนาคารเพื่อสังคมให้อยู่ในกระบวนการทำงาน ซึ่งจะช่วยสร้างผลกระทบเชิงบวก ลดผลกระทบเชิงลบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น
ด้วยความมุ่งมั่นของผู้บริหารพนักงาน และลูกจ้างของธนาคารออมสิน รวมทั้งการสนับสนุนจากพันธมิตร หน่วยงานกำกับดูแล ลูกค้า และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกท่าน ทำให้ธนาคารออมสินสามารถดำเนินการตามภารกิจในการช่วยเหลือประชาชนผ่านการลดภาระหนี้สิน และช่วยให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนที่มีอัตราดอกเบี้ยที่เป็นธรรม และสามารถดำเนินโครงการจำนวนมากที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม
และสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรม นอกจากนี้ ธนาคารได้แสดงบทบาทในการสนับสนุนให้ภาคธุรกิจดำเนินกิจการโดยคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม ผ่านการออกผลิตภัณฑ์สินเชื่อเพื่อ
สนับสนุนผู้ประกอบการตามโมเดลเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green Economy) การลงทุนใน Social Bond Green Bond และ Sustainability Bond อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งได้เริ่มพัฒนาแนวทางการนำประเด็นสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environment, Social and Governance: ESG) มาร่วมพิจารณาประกอบการให้สินเชื่อแก่ธุรกิจขนาดใหญ่ สอดคล้องกับบทบาทของ
ธนาคาร ในฐานะผู้จัดสรรเงินทุนเพื่อขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจ และมีส่วนช่วยสนับสนุนให้ภาคธุรกิจร่วมสร้างสังคมที่ยั่งยืนไปด้วยกัน
หนึ่งในบทพิสูจน์ความสำเร็จในการดำเนินงานของธนาคารออมสินสะท้อนผ่านการได้รับรางวัลรัฐวิสาหกิจดีเด่นของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ กระทรวงการคลัง ประจำปี 2565
รวมทั้งสิ้น 7 ประเภทรางวัลซึ่งมากที่สุดในประวัติศาสตร์ โดยธนาคารได้รับรางวัลการพัฒนาสู่รัฐวิสาหกิจยั่งยืนดีเด่น รางวัลเกียรติยศ “การบริหารจัดการองค์กรดีเด่น” จากการรักษามาตรฐานการดำเนินงานที่ดีเด่นต่อเนื่องติดต่อกันเป็นปีที่ 4 รวมถึงรางวัลบริการดีเด่นซึ่งได้รับต่อเนื่องมาแล้ว 3 ปี ทั้งหมดนี้เป็นเครื่องยืนยันความสำเร็จในการมุ่งมั่นดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพและพัฒนาองค์กรสู่ความเป็นเลิศ จนเป็นที่ประจักษ์ เป็นการสร้างความภาคภูมิใจ เป็นขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติงานให้แก่คณะกรรมการ ผู้บริหาร พนักงานและลูกจ้างทุกคนของธนาคาร
ในปี 2566 ธนาคารออมสินยังคงยึดมั่นในการขับเคลื่อนภารกิจเพื่อสร้างผลกระทบเชิงบวก ลดผลกระทบเชิงลบต่อสังคมอย่างเป็นรูปธรรม และจะเพิ่มเติมความเข้มข้นในการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะในประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อช่วยประชาชน ภาคธุรกิจ และสังคมไทยเดินหน้าสู่ความยั่งยืน สร้างอนาคตที่ดีและปลอดภัยสำหรับคนรุ่นถัดไป
ในนามของคณะกรรมการธนาคารออมสิน ขอขอบคุณผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหน่วยงานกำกับ พันธมิตร คู่ค้า คู่ความร่วมมือ ชุมชนสำคัญ และลูกค้า สำหรับความเชื่อมั่น ความไว้วางใจ ความร่วมมือและ ให้การสนับสนุนธนาคารด้วยดีตลอดมา และคณะกรรมการ คณะผู้บริหาร พนักงานและลูกจ้างธนาคารออมสินพร้อมดำเนินการด้วยความมุ่งมั่นและตั้งใจเพื่อสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมและประชาชนชาวไทยตลอดไป
(นายธีรัชย์ อัตนวานิช)
ประธานกรรมการธนาคารออมสิน
ธนาคารออมสินมุ่งมั่นดำเนินการภายใต้ภารกิจ “ธนาคารเพื่อสังคม” ด้วยเจตนารมณ์ที่ชัดเจนในการ“ลดความเหลื่อมล้ำทางการเงิน สร้างการเข้าถึงแหล่งทุนที่เป็นธรรม” แก้ไขปัญหาความยากจน
ให้กับประชาชนฐานราก ด้วยการทำธุรกิจเชิงพาณิชย์ควบคู่กับธุรกิจเชิงสังคม (Dual Mission) นำกำไรจากการประกอบธุรกิจปกติมาสนับสนุนภารกิจเชิงสังคม บูรณาการแนวคิดเชิงสังคมลงในกระบวนการปฏิบัติงานที่สำคัญ (Social Mission Integration) เพื่อขับเคลื่อนองค์กรสู่ความยั่งยืน โดยการสร้างความเข้มแข็งภายในองค์กร และการสร้างผลกระทบเชิงบวก (Positive Impact)
ให้กับผู้คน สังคม สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจของคนฐานรากและเศรษฐกิจของประเทศ ตามกรอบแนวคิด Triple Bottom Line
ด้วยความร่วมแรงร่วมใจในการปฏิบัติหน้าที่อย่างเข้มแข็ง เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของคณะกรรมการ ผู้บริหาร พนักงาน และลูกจ้างทุกคน ทำให้ตั้งแต่กลางปี 2563 ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ธนาคารสามารถสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อผู้คนและสังคมในวงกว้าง มีผู้ได้รับประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรมผ่านโครงการต่าง ๆ มากถึง 16 ล้านคน จาก 50 โครงการของธนาคาร คิดเป็นเม็ดเงินที่ธนาคารให้การสนับสนุนช่วยเหลือประชาชนแล้วกว่า 47,500 ล้านบาท ผ่านมิติความช่วยเหลือ 3 ด้าน ได้แก่ 1) การสร้างแหล่งทุนดอกเบี้ยต่ำและเป็นธรรม ผ่านโครงการสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ โครงการลดดอกเบี้ย
สินเชื่อครู โครงการดอกเบี้ยต่ำกว่าตลาด ทำให้ประชาชน
มีทางเลือกการกู้ด้วยต้นทุนที่ต่ำลง คิดเป็นส่วนต่างดอกเบี้ยเป็นเงินกว่า 32,800 ล้านบาท 2) การช่วยลดภาระของลูกหนี้ ทั้งการออกมาตรการพักชำระหนี้และการปรับปรุงโครงสร้างหนี้อย่างต่อเนื่องตลอดช่วงวิกฤติโควิด- 19 ซึ่งทำให้ธนาคารมีรายได้ลดลงกว่า 10,700 ล้านบาท จากการหยุดรับรู้รายได้ดอกเบี้ย และ 3) การช่วยสนับสนุนงบประมาณ จำนวนกว่า 4,000 ล้านบาท เป็นค่าใช้จ่ายการดำเนินงานเพื่อสังคม เช่น โครงการสร้างงานสร้างอาชีพ และโครงการความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมอีกหลายโครงการ
ในด้านการดูแลความเข้มแข็งภายในที่ธนาคารมีการดำเนินการเพื่อลดต้นทุน ควบคุมค่าใช้จ่าย อย่างต่อเนื่อง (Cost Reduction Program) ทำให้ในปี 2565 ธนาคารสามารถทำกำไรได้ในระดับที่เหมาะสม และได้นำกำไรไปจัดสรรในการทำภารกิจช่วยสังคมตามนโยบายรัฐ และนำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน รวมถึง การมีเงินสำรองทั่วไปอยู่ในระดับสูงที่สุด โดย ทริสเรทติ้ง สถาบันการจัดอันดับเครดิตที่มีความน่าเชื่อถือ ประกาศคงอันดับเครดิตของธนาคารออมสินที่ระดับ AAA เป็นปีที่ 7 ติดต่อกัน (เริ่มจัดอันดับปี 2559-2565) ด้วยแนวโน้ม Stable หรือ “คงที่” สะท้อนสถานภาพทางกฎหมายของธนาคารที่เป็นสถาบันการเงินเฉพาะกิจ มีความเชื่อมโยงกับรัฐบาลในระดับสูงสุด และมีบทบาท “สำคัญมากที่สุด” ในการสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศอย่างยั่งยืน
บนก้าวย่างสู่ปีที่ 111 ธนาคารออมสินยังคงมุ่งมั่นดำเนินกิจการเคียงคู่สังคมไทยอย่าง เต็มความสามารถ ด้วยความเข้มแข็ง โปร่งใส เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับองค์กรและนำกำไรมา
สนับสนุน ภารกิจเชิงสังคม พร้อมยกระดับการช่วยเหลือประชาชน โดยมีมุ่งเน้นการดำเนินงานใน 3 ด้าน สำคัญ คือ การสร้างการเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่เป็นธรรมผ่านบริการสินเชื่อที่ดิน “มีที่ มีเงิน”
และบริการ “Digital Lending” การพัฒนาศักยภาพให้เข้มแข็งและยั่งยืนด้วยการสร้างผู้ประกอบการชุมชม สร้างชุมชนเข้มแข็ง การสร้างความมั่นคงยามเกษียณ และการบูรณาการภารกิจเพื่อสังคมในทุกกระบวนการสำคัญของธนาคาร เพื่อเติมความลึกในการช่วยคน เติมความกว้างที่ครอบคลุมให้ธนาคารช่วยคน ช่วยสังคมได้มากขึ้น
ผมมั่นใจครับว่า พวกเราทุกคนจะปฏิบัติหน้าที่อย่างมุ่งมั่นเพื่อบรรลุเป้าหมายการเป็น “ธนาคารเพื่อสังคม (Social Bank)” อย่างเต็มที่ เพราะนี่คือภารกิจที่พวกเราทุกคนภาคภูมิใจ ในนามของ
คณะผู้บริหาร พนักงาน และลูกจ้างธนาคารออมสิน ผมขอขอบคุณลูกค้า หน่วยงานกำกับดูแล หน่วยงานพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน ตลอดจนผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกท่าน ที่ให้การสนับสนุนและ
มีส่วนร่วมสำคัญในการขับเคลื่อนงานและภารกิจทั้งหมดของธนาคารให้เกิดขึ้น ทั้งนี้ ธนาคารจะมุ่งมั่นทุ่มเทในการปฏิบัติหน้าที่อย่างมืออาชีพ และมีธรรมาภิบาล เพื่อสร้างอนาคตที่ยั่งยืนและมั่นคงให้กับ
สังคมไทย อย่างสมฐานะสถาบันการเงินของรัฐ ที่ให้บริการทางการเงินอยู่เคียงคู่กับคนไทยมายาวนาน และบริหารกิจการโดยคนไทย 100%
(นายวิทัย รัตนากร)
ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน