โดยสถิติค่าเฉลี่ยของคนทำธุรกิจแล้วประสบความสำเร็จตลอดรอดฝั่งฝันนั้นต้องยอมรับว่ามีจำนวนที่น้อยกว่าคนที่ทำแล้วล้มเหลว หรือไม่ประสบความสำเร็จ
อย่างไรก็ตามเมื่อทำธุรกิจส่วนตัว แล้วจับถูกทางและทำไปเรื่อยๆ จนมั่นคงสักระยะหนึ่ง ผลตอบแทนจะสูงกว่าการเป็นมนุษย์เงินเดือน นั่นก็เพราะรายได้จะเกิดจากกลุ่มลูกค้าหลายทางหลายพื้นที่ ซึ่งมันมากกว่าการเป็นมนุษย์เงินเดือนที่มีรายได้เพียงแค่ทางเดียวเท่านั้นเอง
การค้นหาธุรกิจที่เหมาะสมกับตนเอง คือจุดเริ่มต้นทีสำคัญสุด จงเริ่มต้นด้วยสิ่งที่ตัวเองถนัด และรู้ดีที่สุด จะเป็นการเริ่มต้นที่ดี หลังจากนั้นจึงค่อยๆ ต่อยอดไปสู่สิ่งที่รัก และธุรกิจที่ตัวเองอยากสร้าง โดยเราต้องพัฒนาทักษะ และความสามารถควบคู่กันไปด้วย จนสามารถขยับขยายไปสู่กิจการ SMEs ขนาดเล็ก และไปสู่ SMEs ขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ จนประสบความสำเร็จในที่สุด
โดยในช่วงเริ่มต้นของการทำธุรกิจของตัวเอง เราควรใช้จุดเด่นของตนช่วยให้ได้เปรียบคู่แข่ง และสามารถนำจุดนี้มาใช้ในการทำตลาด และโปรโมทเพิ่มยอดขายได้อีกด้วย เรามาดูกันดีกว่าว่า เริ่มต้นธุรกิจ SMEs อย่างไรให้อยู่รอด ติดตามกันเลย
เริ่มต้นธุรกิจควรมี 3 สิ่งต่อไปนี้
- สินค้า
สินค้าที่เราจะนำมาขาย ต้องมีต้นทุนราคาอย่างน้อยเท่ากับของคู่แข่ง หรือให้ดีควรถูกกว่าคู่แข่ง ถ้าเราไม่ได้เน้นที่ราคา ก็ควรทำคุณภาพสินค้าให้ดี สร้างภาพลักษณ์ให้ดูดีคุ้มค่ากับเงินที่ลูกค้าจะจ่าย
- หน้าร้านขายของ
ถ้าเป็นอดีตหน้าร้านคงหมายถึง การเช่าพื้นที่ขายของ หรือเปิดร้าน เปิดสาขาแต่เพียงอย่างเดียว แต่ในยุคปัจจุบันหน้าร้านนั้นไม่จำเป็นต้องเป็นพื้นที่จริงเสมอไป ยังมีหน้าร้านออนไลน์ เช่น เว็บไซต์ Facebook Fan Page มาช่วยในการทำตลาดขายของอีกด้วย
- การตลาด
สำหรับการทำตลาดนั้นถ้าเป็นในอดีตคงต้องใช้เงินมากมายในการออกสื่อโฆษณา แต่ปัจจุบันเราสามารถทำการตลาดออนไลน์ที่ใช้เงินทุนต่ำกว่ามาก แต่ต้องมีเทคนิคในการดึงดูดลูกค้าที่ถูกต้อง ถูกใจคนรับสื่อจึงจะประสบความสำเร็จได้จริง
เริ่มต้นธุรกิจ SME อย่างไรให้อยู่รอดต้องรู้จักบริหารเงิน
เมื่อกิจการเริ่มต้นได้ดีแล้ว สิ่งที่สำคัญที่เปรียบเสมือน เลือดที่คอยหล่อเลี้ยงร่างกาย ก็คือ เงินที่คอยหล่อเลี้ยงกิจการให้เติบโตสร้างความสำเร็จแก่เจ้าของ การบริหารเงินรวมถึงสภาพคล่องของกิจการจึงสำคัญยิ่งสำหรับธุรกิจ SME โดยการบริหารสภาพคล่องที่ดีควรมีลักษณะดังต่อไปนี้
มีสัดส่วนของเงินไหลเข้ามากกว่าเงินไหลออก
เงินไหลเข้าคือ ยอดขายหรือรายได้ของกิจการ หรือแม้แต่เงินกู้ สินเชื่อจากธนาคารก็ถือเป็นเงินไหลเข้า ส่วนเงินไหลออก คือ รายจ่ายต่างๆ หากเรามีเงินไหลเข้ามากกว่าไหลออก นั่นแสดงว่ากิจการเรามีสภาพคล่องที่ดี ควรรักษาเอาไว้ไม่ให้เงินที่ไหลออกมากกว่าเงินที่เป็นรายรับของบริษัท
อัตราส่วนหนี้สินต่อทุนไม่ควรเกิน 2 เท่าตัว
แน่นอนที่สุดว่าบริษัททุกที่ต้องมีหนี้สิน ต้องกู้เงินเพื่อมาขยายกิจการ หรือเสริมสภาพคล่อง แต่หากมีหนี้สินสูงมากเกินไปเวลาที่เศรษฐกิจไม่ดีจะทำให้เกิดปัญหาขาดสภาพคล่อง ไม่มีเงินไปจ่ายดอกเบี้ยในอนาคต เจ้าของกิจการที่ดีควรบริหารจัดการหนี้สินตรงนี้ให้เหมาะสม ถ้าจะให้ดีไม่ควรเกิน 2 เท่าของทุนที่มีอยู่ ยิ่งน้อยยิ่งดีนั่นเอง
รักษามาตรฐานการเก็บเงินลูกหนี้
วินัยทางการเงินที่ดีจะช่วยให้ทุกกิจการอยู่รอดปลอดภัย หากลูกหนี้รายใดของเราเริ่มมีการผัดผ่อนหนี้ เจ้าของกิจการไม่ควรนิ่งเฉย ต้องเข้าไปเจรจาแต่เนิ่นๆ และแก้ปัญหาให้เร็ว ไม่ควรให้เกิดการผัดผ่อนหนี้ เพราะเงินที่ไหลเข้าจะลดน้อยลง ทำให้เกิดปัญหาตามมาในภายหลัง
เก็บเงินส่วนของกำไรไว้เป็นกำไรสะสม
หากทำกิจการแล้วมีกำไร มีเงินเหลือ ถ้าต้องแบ่งปันผลจ่ายกับผู้ถือหุ้น แล้วยังเหลือ ควรเก็บเงินสดไว้บ้าง โดยสามารถบันทึกเงินในส่วนนี้เป็น กำไรสะสม เก็บไว้เหมือนเป็นน้ำสำรองยามหน้าแล้ง หรือเผื่อมีโอกาสการลงทุนดีๆ จะได้มีเงินสดไว้ลงทุนในอนาคต
อย่างไรก็ตามการจัดการทางการเงินที่กล่าวมาเป็นเพียงเศษเสี้ยวของการบริหารกิจการ SME ถ้าเจ้าของกิจการมีความรอบคอบ มีวินัยทางการเงิน และไม่หยุดนิ่งที่จะพัฒนา โอกาสที่กิจการของเราจะอยู่รอดปลอดภัยก็เป็นไปได้สูงทีเดียว
————————–