สำหรับบ้านที่เหมาะสมกับเรานอกจากเราจะมองเรื่องทำเลที่ตั้งเป็นหลักแล้ว สิ่งที่เราต้องคำนึงถึงก็คือ “ราคาของบ้าน” หากราคาบ้านสูงกว่ากำลังในการผ่อนชำระต่อเดือน บ้านก็จะเป็นภาระหนักอึ้ง แทนที่จะสร้างความสุขให้กับคนในครอบครัว แต่มันกลับสร้างหนี้ก้อนใหญ่เกินไปให้กับเราแทน สำหรับผู้ที่คิดจะซื้อบ้าน ควรคำนวณเงินส่งค่างวดให้ไม่เกิน 20-30% ของรายรับต่อเดือน ยกตัวอย่างเช่น มีเงินเดือนหมื่นบาท ก็ไม่ควรผ่อนบ้านเกิน 3,000 บาทต่อเดือน เป็นต้น ซึ่งโดยปกติแล้วธนาคารจะพิจารณาสัดส่วนเงินงวดต่อรายได้สุทธิ หรือ Monthly Payment to Net Income Ratio ไม่เกิน 33%
สิ่งสำคัญที่จะทำให้การขอสินเชื่อบ้านหลังแรกของเราผ่านได้ง่ายขึ้นก็คือ “เงินดาวน์บ้าน” ยิ่งเรามีเงินดาวน์บ้านมากเท่าไร โอกาสที่เราจะกู้ผ่านก็ยิ่งมากขึ้นเท่านั้น ปกติแล้วเงินดาวน์บ้านมักจะอยู่ราวๆ 10-20% ของราคาบ้าน หมายความว่า หากเราต้องการซื้อบ้านราคา 1 ล้านบาท เราควรมีเงินดาวน์อย่างน้อย 1 แสนบาท โดยธนาคารจะพิจารณาสินเชื่อจากรายได้ของผู้กู้ และผู้ร่วมกู้เป็นหลัก การพิจารณาให้กู้จะให้กู้ประมาณ 30-40 เท่าของรายได้ เช่น ถ้าคุณมีเงินเดือน 100,000 บาท (รวมกันกับผู้กู้) จะกู้ได้วงเงินสูงสุด 3-4 ล้านบาท ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับลักษณะของอาชีพ และความมั่นคงของรายได้ด้วย หากเรามีเงินดาวน์บ้านประมาณ 20% ของราคาซื้อ การยื่นกู้ก็จะผ่านได้ง่ายขึ้นนั่นเอง
หากเราคิดจะกู้ซื้อบ้าน แต่เรายังมีภาระหนี้สินมากมาย ไม่ว่าจะเป็นหนี้สินส่วนบุคคล สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ ควรรีบปิดให้หมดเสียก่อนจะช่วยเพิ่มโอกาสในการขอสินเชื่อที่อยู่อาศัยได้มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หนี้สินค้างชำระต่างๆ ควรปิดให้หมดโดยเร็ว การปิดหนี้เก่านอกจากจะช่วยให้การขอสินเชื่อง่ายขึ้นแล้ว ยังทำให้ภาระค่าใช้จ่ายต่อเดือนของเราเบาลงด้วย การมีบ้านสักหลังจะไม่ได้จบแค่ค่างวดในแต่ละเดือนนะ ยังมีเฟอร์นิเจอร์ ตกแต่งบ้าน ติดปั้มน้ำ ติดแอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ ฯลฯ หากเรายังมีหนี้สินติดตัวมากมาย ควรรีบจัดการให้เรียบร้อยก่อนจะดีกว่า
การที่ธนาคารจะปล่อยสินเชื่อให้กับผู้กู้จะมีหลักเกณฑ์บางประการ โดยหลักคุณสมบัติที่ผู้กู้ต้องคำนึงถึง ได้แก่
-อายุของผู้กู้ เมื่อรวมกับจำนวนปีที่ขอกู้แล้วจะต้องไม่เกิน 70 ปี
-ผู้กู้ร่วมรายอื่น นอกจากผู้ที่เป็นคู่สมรส บิดามารดา พี่น้อง หรือบุตรแล้ว จะมีผู้กู้ร่วมคนอื่นได้อีกไม่เกิน 1 คน
-ผู้กู้ร่วมที่ไม่ใช่คู่สมรส และบุตร จะต้องถือกรรมสิทธิ์ร่วมในทรัพย์ที่จำนองด้วย
-ประวัติการชำระหนี้ ในกรณีที่ผู้กู้ต้องการขอกู้เงินเพื่อไถ่ถอนจำนองจากสถาบันการเงินอื่นๆ ผู้กู้ต้องมีประวัติการชำระหนี้ดีมาแล้วอย่างน้อย 12 งวด
อย่างไรก็ตามข้อมูลข้างต้นเป็นเพียงหลักเกณฑ์การวิเคราะห์สินเชื่อทั่วไป หากเป็นสินเชื่อสวัสดิการ หรือสินเชื่อโครงการพิเศษต่างๆ แล้วธนาคารอาจผ่อนปรนเงื่อนไขการกู้ได้
——————————————–