บทความนี้จะช่วยให้คุณเข้าใจการเลือกกองทุนได้ง่าย เพราะเรื่องกองทุนนั้นจริงๆ ก็ไม่ยากอย่างที่คิด ใครๆ ก็เริ่มต้นลงทุนได้ อย่ารอช้ามาติดตามกัน
วิธีแรก
เลือกจากเทรนด์ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต
วิธีนี้ง่ายมากๆ หากเราคิดว่าอะไรที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตเราก็เลือกกองทุนที่ลงทุนกับสิ่งเหล่านั้น
ยกตัวอย่างเช่น อนาคตจะมีรถไฟฟ้าเกิดขึ้นอีกหลายสาย มีโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย ไม่ว่าจะเป็นรถไฟรางคู่ รถไฟความเร็วสูง ถนนหนทางใหม่ๆ สิ่งเหล่านี้รวมๆ เรียกว่า “โครงสร้างพื้นฐาน” เราก็สามารถเลือกลงทุนในกองทุนที่ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน หรือ Infrastructure Fund เพราะเราคิดว่าสิ่งเหล่านี้คือ อนาคตที่จะต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน เราก็สามารถลงทุนได้ แถมอาจจะเก็บยาวๆ ได้อีกด้วย
หรืออีกเทรนด์หนึ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นก็คือ สังคมผู้สูงอายุ ในอนาคตประเทศไทยจะมีคนสูงอายุราวๆ 15-20% นั่นถือเป็นการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มร้อย เราก็สามารถเลือกลงทุนในกองทุนรวมที่ลงทุนในหุ้นที่เกี่ยวข้องกับโรงพยาบาล เกี่ยวกับอุปกรณ์การแพทย์ การรักษาสุขภาพ อุตสาหกรรมผลิตยา เป็นต้น
วิธีการก็คือ เราสามารถเข้าไปอ่านหนังสือชี้ชวนว่าแต่ละกองทุนรวมเหล่านั้นนำเงินของผู้ซื้อหน่วยลงทุน คือเงินของเราไปลงทุนในอะไรบ้าง ในหุ้นสามัญ หุ้นกู้ หรือสินทรัพย์ทางการเงินรูปแบบต่างๆ โดยสามารถสอบถามเพื่อขอหนังสือชี้ชวนได้ที่บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม หรือไปดาวน์โหลดในอินเตอร์เน็ตก็ไม่ผิดกติกาแต่ประการใด
วิธีที่สอง
เลือกลงทุนจากการเปรียบเทียบผลตอบแทนในอดีต
วิธีการนี้เป็นการมองเชิงตัวเลข ไม่เหมือนกับวิธีการแรกที่เราใช้มุมมองในเชิงคุณภาพ โดยเราสามารถเข้าไปดูตัวเลขผลตอบแทนของแต่ละกองทุนย้อนหลังได้ในเว็บไซต์ของบริษัทจัดการกองทุนรวมแต่ละแห่งได้ไม่ยาก
วิธีการก็คือ นำผลตอบแทนของแต่ละกองทุนย้อนหลัง โดยทางบริษัทจัดการกองทุนแต่ละแห่งจะรายงานเป็นตัวเลข % ต่อปี เราสามารถคัดเอากองทุนที่มีผลตอบแทนติดลบออกไป และเลือกเอากองทุนที่มีผลตอบแทนเป็นบวกมาพิจารณา หากเราไม่คิดจะพิจารณาในเชิงคุณภาพ หรือดูว่ากองทุนเหล่านั้นลงทุนในสินทรัพย์อะไรบ้าง ต้องการรู้แค่ ตัวเลขของผลตอบแทนเท่านั้น เราก็สามารถเลือกลงทุนในกองทุนรวมที่ให้ผลตอบแทนย้อนหลังสูงสุดนั่นเอง
ที่จริงแล้วในแวดวงของผู้จัดการกองทุนได้มีการจัดอันดับผลตอบแทนจากการลงทุนในกองทุนรวมไว้ที่เว็บไซต์ต่างๆ อาทิ morningstarthailand.com โดยเราสามารถเข้าไปสืบค้นข้อมูลย้อนหลังได้ เพื่อประกอบการตัดสินใจลงทุน
อย่างไรก็ตามการใช้วิธีวัดผลจากตัวเลขแต่เพียงอย่างเดียวนั้นจะทำให้เราขาดการมองภาพเชิงคุณภาพ ทางที่ดีหากเราใช้แนวคิดแรก คือ การมองภาพการลงทุนเชิงคุณภาพ โดยเลือกจากกระแสการเติบโตในอนาคตที่เราสนใจเป็นหลัก และค่อยมาคัดเอากองทุนที่มีผลตอบแทนดีที่สุดก็จะมีตัวกรองสองชั้นช่วยให้การตัดสินใจดีขึ้น
วิธีที่สาม
เลือกจากความน่าเชื่อถือของบริษัทจัดการกองทุนรวม
วิธีการนี้เราจะใช้เงื่อนไขใหม่ก็คือ เราต้องการเลือกจากความน่าเชื่อถือของบริษัทจัดการกองทุนรวมเป็นหลัก เนื่องจากบริษัทที่ดูน่าเชื่อถือนั้นคงไม่เชิดเงินของเราเพียงเล็กน้อยไปเพื่อแลกกับชื่อเสียงที่สะสมมาอย่างยาวนาน
โดยปกติแล้วบริษัทจัดการกองทุนรวมที่แตกย่อยมาจากธนาคารใหญ่ๆ หรือธนาคารที่มีประวัติการดำเนินงานอย่างมั่นคงยาวนานจะเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจในกรณีที่เราต้องการเลือกกองทุนรวมจากความน่าเชื่อถือดังกล่าว
อย่างไรก็ตามการเลือกกองทุนรวมโดยใช้เงื่อนไขจากความน่าเชื่อถือของบริษัทนั้นแม้ไม่ใช่แนวคิดที่ดีเท่ากับสองแนวคิดแรก แต่หากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิด แนวคิดนี้จะช่วยให้เราปลอดภัย ถ้าจะให้การเลือกของเรามีประสิทธิภาพมากขึ้น เราสามารถกรองต่ออีกสองชั้น ด้วยการเลือกกองทุนรวมจากความน่าเชื่อถือเป็นอันดับแรก ถัดมาก็เลือกตามเทรนด์ที่จะเป็นกระแสในอนาคตภายใต้การลงทุนของกองทุนรวมที่เราเลือกมาแต่แรก และสุดท้ายก็คือ ใช้ตัวเลขผลตอบแทนจากการลงทุนในการตัดสินใจขั้นสุดท้ายเพื่อลงทุน
วิธีการทั้งสามแบบเป็นวิธีคิดที่แตกต่างจากบทความอื่นๆ ที่จะเน้นอธิบายคุณสมบัติต่างๆ ของแต่ละกองทุน ซึ่งมีเยอะแยะมากมายจำกันไม่ไหว สิ่งสำคัญก็คือ เราควรเลือกจากตัวเราเองเป็นหลัก และสิ่งที่ขาดไม่ได้อีกประการ คือ เราต้องรู้ว่าเรารับความเสี่ยงได้มากน้อยแค่ไหน หากเรารับความเสี่ยงได้มากหน่อยเราก็สามารถเลือกกองทุนรวมที่ลงทุนในหุ้นเป็นหลัก แต่ถ้าเรารับความเสี่ยงได้น้อยก็ควรเลือกลงทุนในกองทุนรวมที่ลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงน้อย อย่างเช่น ตราสารหนี้ หรือพันธบัตรเป็นหลักนั่นเอง
——————————————————-