ประกันอัคคีภัยจำเป็นแค่ไหน เพราะการทำประกันอัคคีภัยเป็นมากกว่าเรื่องไฟไหม้บ้านแต่ยังคุ้มครองความเสียหายที่เกิดจากภัยธรรมชาติและอุบัติเหตุอื่นๆ ต่อที่อยู่อาศัย
อัคคีภัยมีโอกาสเกิดขึ้นกับบ้านเราได้มากแค่ไหน
เชื่อว่าเมื่อได้เห็นรายงานข่าวเกี่ยวกับไฟไหม้อยู่บ่อยครั้งในรอบปีที่ผ่านมา หลายคนอาจเริ่มตั้งคำถามว่ามีโอกาสมากน้อยเพียงใดที่ข่าวสะเทือนขวัญนี้จะเกิดขึ้นกับบ้านเรา เพราะแท้จริงแล้วอัคคีภัยในพื้นที่อยู่อาศัยไม่ใช่เรื่องไกลตัว โดยเฉพาะเมื่ออิงตามรายงานสถิติจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในรอบ 4 เดือนปีที่ผ่านมาจะพบว่า ตลอดเดือนมกราคม – เมษายน พ.ศ. 2565 สถิติการเกิดอัคคีภัยมีมากถึง 956 หมู่บ้าน เป็นอันดับ 3 ของสาธารณภัยรองจาก อุทกภัยและวาตภัย ทว่าที่น่าตกใจคือการเกิดอัคคีภัยในพื้นที่อยู่อาศัยส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บมากเป็นอันดับหนึ่งซึ่งเป็นจำนวนมากที่สุดท่ามกลางสาธารณภัยทั้งหมด
การทำประกันอัคคีภัยบ้านคือวิธีเตรียมการก่อนสาย เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยให้กับสิ่งที่ปลูกสร้างขึ้นเป็นที่อยู่อาศัย เช่น บ้าน คอนโด ทาวน์เฮาส์ ตึกแถว ห้องชุด อาคารชุด รวมถึงทรัพย์สินสำคัญภายในอย่าง เฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้และอุปกรณ์ไฟฟ้าภายในบ้าน รวมทั้งทรัพย์สินอื่นที่มีไว้เพื่อการอยู่อาศัยของผู้ทำประกัน โดยการชดเชยค่าเสียหายที่เกิดจากปัจจัยแวดล้อม ทั้งโดยธรรมชาติและจากมนุษย์ด้วยกัน เพื่อให้มีแรงกำลังตั้งหลักใหม่จากเหตุการณ์ความสูญเสีย
5 เหตุผลสำคัญทำไมทุกบ้านควรมีประกันอัคคีภัย
อุบัติเหตุคือเรื่องร้ายที่เกิดโดยไม่คาดฝันและมักมาพร้อมความสูญเสียที่ไม่มีใครต้องการ ดังนั้นแล้วการทำประกันอัคคีภัย ไม่ได้มีไว้เพียงเพื่อความอุ่นใจอย่างเดียวเท่านั้น ทว่ายังเป็นการเพิ่มความคุ้มครองให้กับทรัพย์สินในสถานการณ์คับขันที่ไม่อาจรู้ล่วงหน้าได้ ในรูปแบบของการสำรองค่าใช้จ่ายผ่านเบี้ยประกันที่จ่ายรายปี เพราะบ้านหนึ่งหลังอาจหมายถึงเงินเก็บทั้งชีวิตของใครสักคน การมีเบาะรองในยามที่ต้องการกำลังเสริมนี้จึงเป็นเรื่องจำเป็น ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้
1.ครอบคลุมความคุ้มครองจากภัยพิบัติธรรมชาติและอุบัติเหตุ
มนุษย์ไม่อาจควบคุมธรรมชาติฟ้าดินได้ฉันใด การหลีกเลี่ยงภัยพิบัติก็อาจทำได้ยากฉันนั้น การทำประกันอัคคีภัยจึงเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกเพื่อคุ้มครองความเสียหายจากภัยธรรมชาติ เช่น
- ภัยจากไฟไหม้ รวมถึงเหตุที่เกิดจากเพลิงไหม้อย่างการเผาพุ่มไม้ พงรกในละแวกบ้าน
- ภัยจากฟ้าผ่า ที่ส่งผลให้เกิดการลัดวงจรจนทำให้เครื่องใช้ไฟฟ้าเสียหาย
- ภัยจากน้ำ ทั้งน้ำฝนและการรั่วไหล จนทำให้ส่วนประกอบภายในบ้านเสียหาย
- ภัยพิบัติอื่นๆ เช่น น้ำท่วม, พายุ, ลูกเห็บ, แผ่นดินไหว, ภูเขาไฟระเบิด, สึนามิ
- ความเสียหายจากอุบัติเหตุ เช่น การถูกพาหนะเฉี่ยวชนรวมถึงความเสียหายที่เกิดจากอากาศยาน
2.แบ่งเบาค่าเสียหายจากการซ่อมแซมหรือซื้อใหม่
แม้แต่การจัดการความเสียหายก็มีราคาที่ต้องจ่าย การทำประกันอัคคีภัยมักครอบคลุมค่าใช้จ่ายจากความเสียหาย เช่น ค่ารื้อถอน ขนย้ายซากทรัพย์ ค่าใช้จ่ายในการดับเพลิง เป็นหนึ่งตัวช่วยในยามจำเป็นที่เราอาจไม่ทันคาดคิดไว้
3.เบาใจเรื่องที่อยู่อาศัยพักพิง
คงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะหาที่อยู่พักพิงในวันที่ต้องสูญสิ้นที่อยู่อาศัยไปกับตา การทำประกันอัคคีภัยจะได้รับความคุ้มครองเรื่องการจัดหาที่พักในกรณีฉุกเฉิน รวมทั้งคุ้มครองค่าเช่าบ้านชั่วคราวตามรายละเอียดของแต่ละกรมธรรม์
4. มีผู้ช่วยในยามคับขัน
การทำประกันที่มีบริการเพื่อคนมีบ้านเสมือนมีผู้ช่วยยามยากอย่างบริการ Home Services ที่พร้อมช่วยเหลือฉุกเฉินภายในบ้านตลอด 24 ชั่วโมง เช่น บริการด้านประปา ไฟฟ้า เครื่องทำน้ำร้อน ตู้เย็น กุญแจบ้าน รวมทั้งกำจัดสัตว์ดุร้าย
5. เพิ่มความมั่นคงให้กับชีวิต
การทำประกันอัคคีภัย เป็นการจัดสรรและบริหารเงินสำรองเพื่อถึงคราวจำเป็นต้องใช้อย่างมีเป็นระบบ เพราะในเวลาหน้าสิ่วหน้าขวาน การมีแผนสำรองเพื่อพร้อมรับมือปัญหาอย่างคนที่คิดทางออกไว้ล่วงหน้าย่อมเป็นวิธีรับมือเรื่องร้ายที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ที่มาข้อมูล สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย